Loading...

‘คนไทยกับการบูชาผี’ มองเรื่องผี ๆ ด้วยเลนส์นักคติชน มธ.

ผีมีจริงหรือไม่? ทำไมคนถึงยังนิยมบูชาผี? ชวนขยายมุมมองโดยนักคติชนอาจารย์ธรรมศาสตร์ ถึงความผูกพันของผีกับวัฒนธรรมของคนไทย

วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2566

     ‘ผี’ เป็นคำอธิบายถึงโลกหลังความตายที่เรายังหาคำตอบไม่ได้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ด้วยเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์ได้อย่างแน่ชัด แต่หากมองในเชิงวัฒนธรรมจะเห็นได้ว่าเรามีความผูกพันกับผีในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่ในระดับความคิด ความเชื่อ ประเพณี ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของเราไม่มากก็น้อย

     วันนี้ รศ.ดร.ประเสริฐ รุนรา ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมาขยายมุมมองเรื่องผีด้วยแว่นของนักคติชน ถึงความผูกพันของผีกับวัฒนธรรมของคนไทย และเหตุผลว่าทำไมคนไทยถึงนิยมการบูชาผี

นิยามของ ‘ผี’

     รศ.ดร.ประเสริฐ อธิบายว่า ความหมายของผีนั้นจริง ๆ แล้วมีความเป็นสากล เพราะในเกือบทุกศาสนาหรือทุกความเชื่อในโลก เชื่อว่าคนเมื่อตายไปแล้วจะไปเกิดใหม่ในโลกถัดไป หรืออีกโลกหนึ่ง ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากงานศพ ศาสนา หรือความเชื่อไหนที่ทำพิธีเผาร่าง แสดงว่ามีความเชื่อว่าเมื่อเกิดโลกใหม่จะได้ใช้ร่างกายใหม่ ร่างกายเก่าจึงไม่มีความสำคัญ ในขณะเดียวกันกับอีกกลุ่มหนึ่งคือเชื่อว่าตายแล้วรอวันที่จะกลับมาใช้ร่างเดิม ในกลุ่มนี้พิธีกรรมงานศพจึงมักจะมีลักษณะเป็นการฝังเก็บร่างเอาไว้ให้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อรอวันกลับมาใช้ร่างเดิมอีกครั้ง

     หากมองในแง่สังคมไทยความเชื่อเรื่องผี ตามหลักฐานที่ปรากฏทางประวัติศาสตร์ บ่งบอกว่าเป็นศาสนาเก่าของคนไทยก่อนที่จะมีศาสนาหลักอย่าง ศาสนาพุทธ พราหมณ์ หรือศาสนาอื่น ๆ เข้ามาเสียอีก โดยมีหลักฐานจากคำโบราณที่สื่อถึงโลกหลังความตาย หรือเกี่ยวโยงกับโลกหน้า เช่น คำที่สื่อถึงสวรรค์อย่างคำว่า เมืองแมน สรวง พญาแถน ส่วนคำที่สื่อถึงโลกวิญญาณ เช่น หิ้ง ขวัญ ผี สาง เป็นต้น โดยการปรากฎของคำเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงร่องรอยความเชื่อเรื่องผีที่ผูกพันกับคนไทยมาตั้งแต่ในอดีต

     ปัจจุบันความหมายของผีนั้นแคบลง มีลักษณะเป็นสิ่งที่ไม่ดีมากกว่าเป็นสิ่งที่ดี เราจึงเรียก ผีในนิยามความหมายใหม่ โดยเรียกฝ่ายดีว่า ‘เทวดา’ ส่วนฝ่ายร้ายมักเรียกว่า ‘ผี’ ที่เป็นคำเก่าดั้งเดิม

ความผูกพันของ ‘ผี’ กับคนไทย

     วัฒนธรรมเรื่องผีผูกพันอยู่ในวงจรชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิด ง่าย ๆ เลยเรามีสำนวนที่ว่า ‘3 วันลูกผี 4 วันลูกคน’ ซึ่งหมายถึงเมื่อเด็กเกิดมาสามวันแรกอาจมีโอกาสเสียชีวิตจึงเรียกกันว่าลูกผี หากรอดมาได้หลังวันที่สี่ไปจึงจะเริ่มตั้งชื่อ โดยวิธีการตั้งชื่อก็จะเป็นชื่อที่มีความหมายไม่ดีเพื่อป้องกันไม่ให้ผีมาทำอันตรายหรือมาเอาไป ส่วนในเรื่องความตาย สังเกตได้จากงานศพ การสวดอภิธรรมมาที่เห็นในปัจจุบันก็น่าจะมาจากพิธีในศาสนาผีก็คือการเรียก ‘ขวัญ’ หรือวิญญาณ ที่เมื่อมีคนตายเราจะเชื่อว่าขวัญหนีไปจากร่าง จึงต้องทำพิธีเรียกขวัญกลับมา เป็นต้น อันที่จริงแล้วการสวดอภิธรรมในงานศพก็ไม่ได้มีในหลักคำสอนพุทธศาสนาอย่างชัดเจน เป็นเพียงการประยุกต์ใช้ให้เข้ากับศาสนาผีดั้งเดิมของไทยเราเท่านั้น

หากมองผีในเชิงพุทธศาสนา เราเห็นอะไรบ้าง?

     ศาสนาพุทธ ปรากฏคำเรียกผี ที่มักพบบ่อย ๆ อยู่สองคำ คำแรกเรียกว่า ‘ภูต’ (Being) หมายถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือวิญญาณในภพภูมิหนึ่ง และคำว่า ‘อมนุษย์’ แปลว่าสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ รศ.ดร.ประเสริฐ ได้ยกตัวอย่างอิทธิพลของผีในพุทธศาสนาที่ปรากฏ ในอรรถกถาธรรมบท พระไตรปิฎก ว่ามีการเล่าถึงพระสงฆ์ที่ไปปฏิบัติธรรมในป่าแล้วถูกเทวดาแปลงกายเป็นผีมาหลอก พระพุทธเจ้าจึงให้คาถาแก่พระสงฆ์ที่เรียกว่า ‘เมตตสูตร’ เพื่อป้องกันอันตรายจากภูตผี ซึ่งในปัจจุบัน เวลาทำบุญขึ้นบ้านใหม่ พระก็จะสวดเมตตสูตร ซึ่งเป็นอิทธิพลจากการสวดป้องกันผี เป็นต้น

     จะเห็นได้ว่า ผีกับคนไทยผูกพันกันตั้งแต่ในวัฒนธรรมดั้งเดิม ไปจนถึงความเชื่อทางศาสนาหลัก และวงจรชีวิตของเราตั้งแต่ลืมตาดูโลก และการที่เราเชื่อว่าผีมีอำนาจเหนือธรรมชาตินั้นเอง ทำให้คนเกิดความกลัวหรือความศรัทธาขึ้น จนต้องมีการบูชาผี

ทำไมคนถึงนิยมบูชาผี

     มีคำกล่าวโดยทั่วไปในนักมานุษยวิทยาว่า ผีอยู่ได้เพราะเครื่องเซ่น การจะดูว่าผีหรือเทพองค์ไหนศักดิ์สิทธิ์นั้นวัดจากปริมาณเครื่องเซ่นและความนิยมของผู้คน ถ้าเครื่องเซ่นน้อย หรือค่อย ๆ หายไป แสดงว่าความศักดิ์สิทธิ์ที่คนนับถือเองก็หายไปด้วย

     หากมองให้ดีจะเห็นได้ว่าความเชื่อเรื่องผีหรือการบูชาผีนั้นสัมพันธ์กับความทุกข์สุขของมนุษย์ที่เป็นโลกิยะ โดยคนที่บูชาผีมักเป็นคนที่มีความทุกข์ โดยเฉพาะทุกข์แบบเร่งด่วน เช่น เจ็บป่วย เป็นหนี้สิน ติดขัดด้านธุรกิจ การค้าขาย ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีปัญหา ส่วนคนที่ไม่มีความทุกข์แต่ปรารถนาความสุขก็เลือกบูชาผีเช่นกัน โดยเป็นการอ้อนวอนขอพร ให้ร่ำรวยประสบสุข เพราะบางครั้งศาสนาหลักไม่สามารถเติมเต็มหรือมีบทบาทช่วยเหลือสนับสนุนความประสงค์ที่เป็นทางโลกได้อย่างทันที

     “ถามว่าคนที่บูชาผีในสังคมไทย ไม่นับถือพุทธศาสนาหรือเปล่า? ก็ไม่ใช่ ยังนับถือพุทธศาสนา แต่พุทธศาสนาไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งหมดของการใช้ชีวิตได้ เช่น หากอยากรวย มีกินมีใช้พุทธศาสนาก็จะสอนให้ปฏิบัติ ด้วยการขยันหมั่นเพียร ให้มัธยัสถ์ ประหยัด ดำรงชีวิตให้เหมาะสม แต่ในความเป็นจริงเรายังต้องการใช้จ่าย ต้องการร่ำรวยแบบเร่งด่วน วิธีปฏิบัติตามคำสอนแบบนี้มันไม่ทันใจ ผีเลยได้ช่องว่างเข้ามามีบทบาท คนไปบูชา บนบานผีเพื่อให้ตนร่ำรวย ค้าขายได้สะดวก พอเป็นไปอย่างใจหวังก็ต้องไปแก้บนจึงเกิดการบูชาขึ้น” รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว

     “ไม่ใช่แค่ผีนะที่หลอกคน คนเองก็หลอกผี เห็นไหมเวลาบนไว้ว่าจะให้หมูทั้งตัว ตอนไปแก้บนผีหรือเทพเนี่ยกลับได้แค่หัว หางแล้วก็ขาสี่ขาของหมู ตัวหายไปไหน”

‘ผี’ คือยาควบคุม

     ถ้าเปรียบให้เห็นภาพของการใช้งาน ‘ผี’ คงเหมือนยาที่ต้องควบคุม ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เพราะมีส่วนประกอบทั้งที่ดีและไม่ดี รศ.ดร.ประเสริฐ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า หากเราไม่เดือดร้อน เราเดินอยู่บนฝั่ง เห็นหมาเน่าลอยอยู่ในแม่น้ำ เราจะเห็นหมาเน่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่หากเรากำลังจะจมน้ำ หมาเน่าตัวนั้นก็จะมีประโยชน์เป็นที่ให้เราเกาะ ประคองตัว ก็เหมือนกัน เวลาคนมีความทุกข์ เครียด ธุรกิจไม่ดี มีปัญหาชีวิต ก็ต้องหาอะไรเกาะไว้ ผีเลยกลายมาเป็นที่พึ่ง แต่พอขึ้นฝั่งได้ ก็ไม่มีใครแบกหมาเน่าไปด้วย เช่นเดียวกันกับการใช้ความเชื่อเรื่องผี หากเราเชื่อแบบงมงายจนสร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเองและผู้อื่นนั่นก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี

     “ในมุมมองของผมนะไม่ควรไปตัดสินว่าสิ่งไหนผิดหรือถูก เพราะปัญหาที่แต่ละคนต้องเผชิญในชีวิตไม่เหมือนกัน ต้องคิดถึงว่าในตอนที่เราเจ็บป่วย เรายังเคยใช้ยาควบคุมที่เป็นสารเสพติดจากแพทย์เพื่อบรรเทาทุกข์เบื้องต้น ดังนั้นไม่ว่าจะสร้างสิ่งบูชาผีเยอะหรือน้อยก็ไม่ใช่เรื่องต้องไปตัดสินว่าผิดหรือถูก หรือกำหนดเรื่องพุทธแท้ พุทธเทียม เราไปตัดสินไม่ได้ ต้องทำใจให้กว้างในการอยู่ร่วมกัน ความเชื่อมีความแตกต่างหลากหลายและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ตราบใดที่ยังมีคนใช้ มีคนเชื่อ ก็แปลว่าสิ่งนั้นยังมีประโยชน์ มีคุณค่า มันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องไปพยายามกำจัดให้อะไรหายไปจากในสังคม ถ้ามันไม่มีคุณค่าเดี๋ยวมันก็หายไปเอง” รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวทิ้งท้าย