Loading...

“ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์” นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565 ผู้พัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน

ศาสตราจารย์ ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565 ผู้พัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2565

     สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน NRCT Talk เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT ครั้งที่ 7 จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ทั้งนี้ได้เปิดตัวนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี 2565 “ศาสตราจารย์ ดร.รุธิร์ พนมยงค์” คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้พัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง

     ศาสตราจารย์ ดร.รุธิร์ พนมยงค์ กล่าวว่า งานวิจัยแบ่งเป็นสามส่วน

   ส่วนที่ 1 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ อาทิ ตัวต้นทุนโลจิสติกส์ ผลิตภัณฑ์มวลรวม และการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า

   ส่วนที่ 2 เรื่องดัชนีที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ในประเทศไทยและในภูมิภาค เรื่องนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการจะได้มีข้อมูลอ้างอิงและประเมินความสามารถในการแข่งขัน

    ส่วนที่ 3 เรื่องการพัฒนาเครื่องมือเรื่องระบบที่มาสนับสนุนในเรื่องโลจิสติกส์อุทกภัยที่มาช่วยเหลือบุคคลที่อยู่ในสภาวะที่อันตราย ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ใหม่ ที่ไม่มีใครมองในรูปแบบโลจิสติกส์ แต่พอมองในรูปแบบโลจิสติกส์จะเห็นว่ามีประโยชน์อย่างชัดเจน เพราะผลคือการช่วยเหลือชีวิตคน โลจิสติกส์มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับเศรษฐกิจ

     เรื่องของการเคลื่อนย้าย เรื่องของปัจจัยการผลิต เรื่องของการจัดเก็บ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ของโลจิสติกส์ ถ้าเกิดไม่มีปัญหาก็จะไม่มีใครนึกถึงโลจิสติกส์ แต่เวลามีปัญหาเกิดขึ้น ของไม่พอ ส่งไม่ทัน ของเกิดความเสียหาย ก็จะเป็นความผิดของโลจิสติกส์ แต่ระยะหลังการให้ด้านการขนส่งโลจิสติกส์ราคาสูงขึ้น จึงทำให้การบริการดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงเศรษฐกิจดีขึ้นจะไม่ค่อยมีใครพูดถึงการขนส่งโลจิสติกส์ หากมองโลกในแง่ร้ายอย่างหนึ่ง คือทุกครั้งที่มีประเด็นด้านโลจิสติกส์แสดงว่าเศรษฐกิจกำลังมีปัญหาในอนาคตมีแนวคิดในเรื่องความสามารถด้านโลจิสติกส์ของกลุ่มประเทศในอาเซียนว่าจะทำอย่างไรให้เชื่อมโยงกัน และอีกด้านที่สำคัญ คือ เรื่องมิติความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ประเด็นการกีดกันทางการค้าจากการไม่ปฏิบัติตามมาตรการทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ หรือไม่มีมาตรการในเรื่องความยั่งยืน ประเทศไทยจึงต้องมีเครื่องมือวัด จะได้เป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำไปปฏิบัติ และภาคการศึกษา สามารถนำไปใช้ประโยชน์สูงสุดต่อไป

    สำหรับกิจกรรม “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565” ในครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ วช. เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์สู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบ