Loading...

ธรรมศาสตร์ ร่วมจัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายจากบริษัทบุหรี่”

ธรรมศาสตร์ มหิดล และองค์การอนามัยโลก จัดตั้งศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก หวังรัฐบาลใหม่ออกกฎคุมเข้มบริษัทบุหรี่

วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2566

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ในการจัดตั้ง “ศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO-FCTC” เพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้เพื่อการป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยอุตสาหกรรมยาสูบสำหรับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการทำงานควบคุมยาสูบอย่างเป็นที่ประจักษ์ ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ความสำเร็จมาจากการทำงานและการประสานความร่วมมือระหว่างหลายภาคส่วน รวมทั้งภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม อย่างไรก็ตาม ในการบรรลุเป้าหมาย ที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศปลอดยาสูบ ยังต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะการแทรกแซงจากบริษัทยาสูบในนโยบายสาธารณสุข การจัดตั้ง “ศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC” นี้ จึงจะมีการพัฒนาคลังความรู้และเฝ้าระวังกลยุทธ์ของบริษัทยาสูบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่องานควบคุมยาสูบทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

     ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า การสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวน หรือ บุหรี่ไฟฟ้า มีผลกระทบมหาศาลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และการแทรกแซงจากบริษัทยาสูบต่อนโยบายสาธารณสุขเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานควบคุมยาสูบ การจัดตั้งศูนย์ความรู้ป้องกันการแทรกแซงนโยบายจากบริษัทยาสูบในประเทศไทยโดยการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้ ถือเป็นคลังข้อมูลเพื่อสนับสนุนประเทศต่าง ๆ และประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมาก ที่จะมีกลไกที่จะช่วยติดตาม เฝ้าระวังการแทรกแซงจากบริษัทยาสูบ และพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องนี้

     ศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC กล่าวว่า WHO-FCTC เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับประเทศต่าง ๆ ในการตอบสนองต่อผลกระทบร้ายแรงจากการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพ โดยศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 นี้มีภารกิจ 4 ด้าน คือ 1. ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศภาคี สำนักงานภูมิภาคต่าง ๆ ขององค์การอนามัยโลก องค์กรระหว่างรัฐบาล และภาคประชาสังคม 2. จัดการความรู้ที่เกี่ยวข้องกับแง่มุมต่าง ๆ ของการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยอุตสาหกรรมยาสูบ 3. เสริมสร้างศักยภาพประเทศภาคีและกลุ่มต่าง ๆ ให้มีความรู้เท่าทันการแทรกแซงโดยอุตสาหกรรมยาสูบ และ 4. ติดตามการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบต่อนโยบายควบคุมยาสูบในระดับต่าง ๆ ซึ่งการที่ศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 นี้ตั้งอยู่ในประเทศไทยจะยิ่งทำให้กลไกการเฝ้าระวังการแทรกแซงโดยอุตสาหกรรมยาสูบของไทยเข้มแข็งขึ้นซึ่งทางศูนย์ฯ จะเป็นหนึ่งกลไกที่ช่วยสนับสนุนให้การควบคุมยาสูบของประเทศไทยมีประสิทธิภาพดีขึ้น

     ดร.แอนเดรียน่า บลังโค มาร์คิโซ่ หัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า มาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC ตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากธุรกิจยาสูบที่ไม่แยแสต่อสุขภาพของประชาชน และให้ความสำคัญกับผลกำไรเหนือสุขภาพ ซึ่งจากหลักฐานที่รวบรวมโดยองค์การอนามัยโลกพบว่าธุรกิจยาสูบยังคงแทรกแซงในเกือบทุกวิธีที่เป็นไปได้เพื่อขัดขวางจุดมุ่งหมายของอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกและขัดขวางการดำเนินการตามมาตรา 5.3 เช่น ใช้องค์กรบังหน้าออกมาเคลื่อนไหว บิดเบือนวิทยาศาสตร์ เผยแพร่ข้อมูลที่ผิดโดยอ้างว่าเศรษฐกิจจะประสบกับปัญหาหากปราศจากยาสูบ และอ้างอย่างผิด ๆ ว่าการควบคุมยาสูบจะทำร้ายเกษตรกรและครอบครัวของพวกเขา ขยายความเท็จเหล่านี้โดยหวังว่าจะโน้มน้าวให้ผู้กำหนดนโยบายลดมาตรการควบคุมยาสูบ

     ดร.แอนเดรียน่า ให้คำแนะนำว่า การควบคุมยาสูบที่ประสบผลสำเร็จต้องเกิดจากความร่วมมือหลายฝ่าย ซึ่งไม่ใช่บทบาทเฉพาะหน่วยงานด้านสุขภาพเท่านั้น เพราะหลาย ๆ มาตรการในการควบคุมยาสูบ เช่น ภาษียาสูบ การค้ายาสูบผิดกฎหมาย หรือการเพาะปลูกยาสูบ ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านต่าง ๆ ดังนั้นงานควบคุมยาสูบโดยเฉพาะในมาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC ซึ่งเป็นการป้องกันการแทรกแซงจากธุรกิจยาสูบจึงมีความเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงาน และควรบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้แทน และพนักงานในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น ในทุกระดับ ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ที่รับผิดชอบกำหนดและนำนโยบายควบคุมยาสูบไปปฏิบัติ