Loading...

สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ ธรรมศาสตร์ จัดการประชุมวิชาการเฉลิมพระเกียรติฯ เรื่อง “ซานตงในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน”

ศูนย์จีนศึกษาและศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุมวิชาการเฉลิมพระเกียรติฯ

วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2566

     เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์จีนศึกษาและศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี  สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุมวิชาการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “ซานตงในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน” โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ทรงบรรยายปาฐกถานำ เรื่อง "ซานตง" ผ่านวีดิทัศน์ ณ ห้องสัมมนากลาง สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

     ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงานในครั้งนี้ว่าด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสมอมา

     “กระผมคิดว่านิมิตหมายนี้ จะเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญยิ่งต่อนักวิชาการด้านจีนศึกษาที่จะน้อมนำพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณ มาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาศักยภาพและการสร้างสรรค์ผลงานในแขนงวิชาด้านนี้ให้เจริญเติบในวงวิชาการไทยต่อไปได้ กระผมจึงขอขอบคุณนักวิชาการทุกคนที่นำเสนอผลงานในวันนี้ และขอขอบคุณคณะกรรมการบริหารศูนย์จีนศึกษาและศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารีที่จัดกิจกรรมครั้งนี้” ศ.ดร.สุรพล กล่าว

     ผศ.ดร.ชัยวัฒน์  มีสันฐาน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 สมเด็จพระกนิษฐา ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานชื่อศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2551

     วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารีเป็นหน่วยงานหนึ่งของสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คือเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านจีนศึกษา

     ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ จึงเห็นพ้องต้องกัน ให้มีการจัดกิจกรรมทางวิชาการด้านจีนศึกษาเพื่อเฉลิมพระเกียรติขึ้นเป็นประจำทุกปี ในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะเปิดโอกาสให้บุคลากรในวงการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีนได้รวมตัวกันและมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละปี ทั้งนี้เพื่อร่วมกันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่วงการจีนศึกษามาโดยตลอด พร้อม ๆ กับได้ ร่วมกันทบทวนผลงานและบทบาทของตนที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ด้านภาษาจีน และจีนศึกษาในประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป

     “ในปี พ.ศ. 2566 คณะกรรมการบริหารศูนย์จีนศึกษาและศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี จึงได้กำหนดให้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ฯ ขึ้นในรูปแบบของ การประชุมวิชาการภายใต้หัวข้อ ‘ซานตงในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน’ การประชุมวิชาการเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ คณะกรรมการศูนย์ฯ ได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ปาฐกทรงบรรยายเรื่อง ‘ซานตง’ ด้วย” ผศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว

     นอกจากนี้มีการนำเสนอบทความวิชาการของ นักวิชาการด้านจีนศึกษาจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 6 ท่าน อาทิ เรื่อง ไท่ซาน: พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในคติความเชื่อของชาวจีน โดย รศ.ดร.สรุสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์ เรื่อง วิวัฒนาการของชุนชิววิทยา (春秋学) ในแคว้นหลู่ โดย รศ.ดร.จตุวิทย์ แก้วสุวรรณ์ เรื่อง ขงจื่อว่าด้วยความรักแบบเข้าข้าง โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ เรื่อง ขงจื่อและอารมณ์แห่งการขาดหาย โดย อาจารย์รชฏ สาตราวุธ เรื่อง การศึกษาเบื้องต้นว่าด้วยจริยศาสตร์ประโยชน์นิยมของมั่วจื่อ โดย รศ.ดร.ศริญญา อรุณขจรศักดิ์ และเรื่อง ไท่ซาน: ฉากสำคัญในนิยายกำลังภายในของกิมย้ง โดย รศ.ดร.บุรินทร์ ศรีสมถวิล