Loading...

หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิด “Life Space” สู่การเป็น “Library of Life”

หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดพื้นที่ “Life Space” แห่งใหม่ ยกระดับเป็นห้องสมุดต้นแบบ Library of Life ณ ชั้นใต้ดิน 2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ.2567

     หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิธีเปิดพื้นที่ Life Space อย่างเป็นทางการ ณ ชั้นใต้ดิน 2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยได้รับเกียรติจาก รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิด

     หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกระดับการดำเนินงานสู่การเป็น “Library of Life” หรือ ห้องสมุดเพื่อชีวิต ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การวิจัย นวัตกรรม และทักษะอนาคต แก่ประชาคมธรรมศาสตร์และสังคม การปรับปรุงพื้นที่หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ชั้นใต้ดิน 2 แห่งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนองค์กร สู่การบรรลุวิสัยทัศน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ด้วยการพัฒนาพื้นที่แนวใหม่ภายในห้องสมุดให้สอดรับกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้แนวคิด “Life Space” ที่ผู้ใช้บริการสามารถเลือกใช้พื้นที่ให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และความต้องการ ณ ขณะนั้น

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ Life Space ให้เป็น Co-Working Space แห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นหนึ่งในการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ Future Workforce (การสร้างพลังการทำงานแห่งอนาคต) ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีแผนเพิ่มพื้นที่ในการศึกษาและทำงานให้มีความเหมาะสม และมีกิจกรรมภายในพื้นที่เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และทักษะต่าง ๆ ผ่านรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมและการแสดงความสามารถพิเศษต่าง ๆ เพราะในปัจจุบัน วิธีการเรียนรู้ถูกปรับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง การอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องมีกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย

     “การพัฒนา Life Space ณ หอสมุดฯ แห่งนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Life Space ของหอสมุดฯ Life Space ที่แท้จริงอยู่ในทุกส่วนของห้องสมุดทุกสาขา เพราะห้องสมุดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ มีมุมผ่อนคลายต่าง ๆ ซ่อนอยู่ในทุกห้องสมุด เช่น มุมมังงะ เป็นต้น การพัฒนาพื้นที่ชั้นใต้ดินของหอสมุดปรีดี พนมยงค์ แห่งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมของ Life Space ทางผู้บริหารเชื่อว่า ในอนาคตหอสมุดฯ จะต้องมีพื้นที่ Life Space ที่สวยงามและใช้งานได้จริงในทุกห้องสมุดสาขา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็พร้อมสนับสนุนทุกการพัฒนาของห้องสมุดเสมอ”

     รศ.ดร.อัญณิษฐา ดิษฐานนท์ ผู้อำนวยการหอสมุดฯ กล่าวเสริมว่า โดยการพัฒนาพื้นที่แนวใหม่ครั้งนี้ จะทำให้ Life Space กลายเป็นหมุดหมายแห่งใหม่ของคนทุกช่วงวัย โดยหอสมุดฯ ได้จัดสรรพื้นที่ให้มีคุณลักษณะและการใช้งานที่แตกต่าง เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่ม Generation Z ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการหลักของห้องสมุด ประกอบด้วย 4 โซนสำคัญคือ  

     1. Co-Working Space พื้นที่สำหรับการทำงานร่วมกัน ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก และการจัดการพื้นที่
ที่รองรับการมีปฏิสัมพันธ์ด้วยการปรึกษาหารือ หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน

     2. Learning Space พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ทั้งแบบส่วนบุคคลและแบบกลุ่ม ที่มุ่งหวังให้ผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมโยงหรือสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง ผ่านการใช้ทรัพยากร ตลอดจนเครื่องมือ
และอุปกรณ์ต่าง ๆ ของห้องสมุด

     3. Inspiration Space พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจที่เอื้อต่อการจุดประกายกระบวนการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ อาทินวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ งานศิลปะ หรือแม้กระทั่ง “จินตนาการภาพแห่งความสำเร็จ” ที่ต้องอาศัยการลงมือปฏิบัติ เพื่อไปสู่ความสำเร็จต่อไป

     4. Performative Space พื้นที่แสดงความสามารถ ที่ผู้คนสามารถมาพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านต่าง ๆ มีความโดดเด่น คือ พลวัตในการปรับใช้งานตามความเหมาะสมของผู้ใช้บริการ

     “ด้วยศักยภาพ Life Space แห่งนี้ สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ถึง 500 ที่นั่ง หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมั่นใจว่าสถานที่นี้จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน ภายใต้สิ่งอำนวยความสะดวก บรรยากาศที่สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย เป็นมิตร และปลอดภัย โดยพร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2567 เป็นต้นไป” รศ.ดร.อัญณิษฐา กล่าวทิ้งท้าย