Loading...

‘วันสัญญา ธรรมศักดิ์’ ประจำปี 67 เปิดวงเสวนา ‘ขั้นตอนบังคับคดีอาญา’ ถกปัญหากระบวนการยุติธรรมของไทย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567 และกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “กระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนบังคับคดีอาญา” ยกกรณีศึกษา ‘ชั้น 14’

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ.2567

     เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567 โดยมี ศ.พิเศษ อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี พร้อมด้วย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมวางพานพุ่มที่ประดิษฐ์จากเครื่องเขียน, อุปกรณ์กีฬา, หนังสือ พร้อมกับแขกผู้มีเกียรติภายในงาน ณ ลานอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยพานพุ่มทั้งหมดจะนำไปมอบให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนต่อไป

     สำหรับงานดังกล่าว ได้มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อรำลึกและเชิดชูเกียรติของ “ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์” บุคคลต้นแบบและปูชนียบุคคลอันทรงคุณค่าของนักนิติศาสตร์ ที่ได้อุทิศตนเพื่อการศึกษาวิชานิติศาสตร์ พร้อมทั้งส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมและวิชาชีพกฎหมาย จนเกิดผลงานอันเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยที่ผ่านมา ศาสตราจารย์สัญญา ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในหลายบทบาท อาทิ ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจน อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     ทั้งนี้ ภายหลังกิจกรรมพิธีสงฆ์ ถวายสังฆทาน และการวางพานพุ่มในช่วงเช้า องคมนตรียังได้ร่วมมอบรางวัลนักศึกษากฎหมายดีเด่น ประจำปี 2567 ให้กับ นายวุฒิพงษ์ ปาลกะวงศ์ บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567 ได้แก่ น.ส.พิมพ์ลภัส วัดพ่วงแก้ว บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับสอง จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ น.ส.นัชชา ชาครานนท์ บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

     ศ.พิเศษ ดร.เดชอุดม ไกรฤทธิ์ กรรมการเนติบัณฑิตยสภา ในฐานะประธานกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เปิดเผยว่า ทางกองทุนฯ ได้จัดงานเชิดชูเกียรตินักศึกษากฎหมายดีเด่นมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 21 เพื่อรักษาและสืบสานปณิธานที่ดีงาม และเป็นแบบอย่างของการอุทิศตนปฏิบัติงานราชการบ้านเมืองของท่านศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ โดยคณะกรรมการพิจารณารางวัลฯ ได้คัดเลือกนักศึกษาที่พร้อมและมีคุณสมบัติ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะนิติศาสตร์ มากกว่า 30 ปี

     ขณะเดียวกันยังได้มีการมอบรางวัลเรียนดี “ธรรมศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์” ให้กับ นายธีรโชติ ป้องกันภัย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คะแนนรวม 88.86% ซึ่งนายธีรโชติ กล่าวว่า ในฐานะนักศึกษาวิชากฎหมายนับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลศาสตราจารย์สัญญา ผู้ซึ่งถือเป็นปูชนียบุคคลของแวดวงกฎหมายและการเมืองไทย โดยรางวัลที่ได้รับในครั้งนี้จะนำไปเป็นแรงผลักดันในการศึกษาต่อ เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นนักกฎหมายที่ดี ที่จะร่วมพัฒนาและสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศต่อไป

     นอกจากนี้ยังได้มีการจัดกิจกรรมการเสวนาเนื่องในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567 หัวข้อ กระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนบังคับคดีอาญา โดย ศ.พิเศษ ดร.เดชอุดม ไกรฤทธิ์ กรรมการเนติบัณฑิตยสภา กล่าวว่า คำหนึ่งที่อยากพูดถึงคือ ‘กระบวนการยุติธรรมแท้ง’ (Miscarriage of Justice) ซึ่งหมายถึงความบกพร่องที่ไม่สามารถจะทำให้ผลของการบังคับคดีขั้นสุดท้ายในกระบวนการยุติธรรมบรรลุเป้าหมาย และหนึ่งในคดีที่เรากำลังพูดถึงว่าแท้งอยู่จริงๆ คือคดีที่เกิดขึ้นใน ‘ชั้น 14’ โรงพยาบาลตำรวจ

     ศ.พิเศษ ดร.เดชอุดม กล่าวว่า ข้อสงสัยหนึ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของชั้น 14 คือไม่เห็นว่าตัวของนักโทษหรือญาติได้มีการขอลดโทษแต่อย่างใด หรือไม่เคยเห็นคำร้องของกรมราชทัณฑ์ที่ยื่นถึงศาลในการขอคุมขังนอกเรือนจำ ไม่เคยได้เห็นว่ามีการขออนุญาตศาล หรือว่าศาลให้อนุญาตแล้วหรือยัง ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์จำเป็นต้องตอบว่าเขามีอำนาจในการนำเอานักโทษออกจากเรือนจำได้อย่างไร

     “วันนี้เป็นวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ทรงคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ กล้าหาญ ยึดมั่นในหลักการแบบที่ไม่มีใครเท่า เคยตัดสินจำคุกพลเอกในคดีกินป่ามาแล้วในยุคปฏิวัติรัฐประหาร จนพลเอกรายนั้นต้องถูกถอดยศทั้งหมด และจำคุกโดยไม่ได้รับการลดโทษใดๆ สุดท้ายต้องตายในคุก แต่ปัจจุบันเราขาดความกล้าหาญ

     คดีจำคุก ก็ถูกแปลงไปได้ด้วยกฎหมาย พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ที่นักการเมืองเข้ามายุ่มย่ามในช่วงของการแก้ไข” ศ.พิเศษ ดร.เดชอุดม ระบุ

     นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า วันนี้เราต่างเห็นถึงปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด ตัวอย่างในวันนี้คือกรณีของการพักโทษที่ผิดเพี้ยน กล่าวคือ ศาลเป็นคนพิพากษากำหนดโทษ ส่วนราชทัณฑ์เป็นคนบริหารโทษ ดังนั้นถ้าหากเห็นว่านักโทษควรได้รับการลดหย่อนโทษ กฎหมายได้เขียนไว้ชัดเจนว่าให้ศาลออกหมายปล่อย หรือการกักขังนอกเรือนจำก็ต้องให้ศาลพิจารณาอนุญาต

     “ถ้าไปดูเวลาขอพระราชทานอภัยโทษ ทางเรือนจำจะตั้งกรรมการตรวจสอบเพื่อคัดคน เมื่อเสร็จจึงเสนอให้ศาลออกหมายปล่อย ระบบเป็นแบบนั้น แต่เที่ยวนี้แปลกตรงที่ราชทัณฑ์ปล่อยเอง ทำให้ศาลไม่มีราคา เพราะนักกฎหมายทุกคนย่อมไม่พิจารณาก่อนจนกว่าเงื่อนไขจะครบ แต่ในกรณีของชั้น 14 แม้การเป็นนักโทษในโรงพยาบาลจะทำได้ ส่วนจะพักการลงโทษได้ก็ต้องครบ 6 เดือนก่อน แต่คดีนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่พักการลงโทษก่อนครบกำหนด ซึ่งนั่นผิดหมดเลย ผิดชัดเจน และเชื่อว่าสักวันหนึ่งรัฐมนตรีก็อาจติดคุกได้” นายปรเมศวร์ ระบุ

     ขณะที่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ใน พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มีการกำหนดไว้ว่าผู้ที่มีสิทธิจะได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ จะต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดที่รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความประพฤติดี มีความอุตสาหะ ความก้าวหน้าในการศึกษา และการทำงานเกิดผลดี หรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ คำถามคือกรณีของชั้น 14 นั้นได้มีในสิ่งเหล่านี้แล้วหรือไม่

     ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า มากไปกว่านั้น ในประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ. 2562 ยังมีการระบุคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับการพิจารณาพักการลงโทษเพิ่มเติม คือต้องเป็นนักโทษเด็ดขาด ‘ชั้นดี’ ขึ้นไป จากทั้งหมดที่มีการแบ่งออกเป็น 6 ชั้น คือ ชั้นเยี่ยม, ชั้นดีมาก, ชั้นดี, ชั้นกลาง, ชั้นต้องปรับปรุง และชั้นต้องปรับปรุงมาก ซึ่งนักโทษเด็ดขาดที่เข้าไปใหม่นั้นจะเป็น ‘ชั้นกลาง’ คำถามคือแล้วเคสนี้ไปเข้าเกณฑ์พักโทษได้อย่างไร เพราะหากได้รับการเลื่อนชั้น ก็อาจต้องมีความประพฤติดี มีการทำงานต่างๆ แต่เราไม่ทราบว่านักโทษรายนี้ได้เลื่อนเป็นชั้นดีตอนไหน ไม่มีใครเห็น

     “การที่คนคนหนึ่งจะรักษาตัวอยู่นอกเรือนจำ และในระหว่างรักษาตัวอยู่ 6 เดือน ท่านก็ไปมีความประพฤติดี มีความอุตสาหะ หรือทำผลงานความดีความชอบเหล่านั้นตอนไหน เรื่องนี้ไม่ได้บอกว่าเขาไม่ได้ทำ แต่กรมราชทัณฑ์จะต้องทำให้ปรากฏออกมาในสิ่งที่สังคมได้ตั้งคำถาม ไม่เช่นนั้นมันจะทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่คนอีกคนหนึ่งโดนโทษปรับ 10,000 บาท แต่ไม่มีเงินจ่าย ก็ต้องติดคุก 20 วัน สุดท้ายกลายเป็นว่าคุกก็มีไว้ขังคนจนตามที่เขาว่ากัน ซึ่งหากคนไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมแล้ว สังคมเราจะอยู่กันอย่างไร” ผศ.ดร.ปริญญา ระบุ

     ด้าน ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อีกหนึ่งตัวอย่างปัญหาของการบังคับใช้กฎหมาย คือกรณีความผิดทางจราจร  ที่หากได้รับใบสั่งจราจรแล้วไม่ชำระค่าปรับ ทางกรมการขนส่งทางบกจะไม่ต่อทะเบียนให้ โดยเป็นกฎหมายที่ถูกแก้ไขโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 14/2560 ภายหลังมีการใช้รัฐธรรมนูญแล้ว

     “ถ้าผู้ถูกใบสั่งยอมเสียค่าปรับ ตำรวจได้เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าไม่ได้เสียค่าปรับ ตำรวจกลับส่งให้หน่วยงานอื่นบังคับ โดยไม่ให้ต่อทะเบียนแทน กลายเป็นการเปลี่ยนตัวคู่กรณี เมื่อไปถึงกรมการขนส่งทางบกเราจะถามว่าผิดอย่างไร เขาก็ตอบไม่ได้เพราะไม่ใช่คู่กรณี จึงเป็นการชกผิดคน ในขณะที่เราก็ไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ว่ากระทำผิดหรือไม่ เพราะไม่มีโอกาสได้ไปศาล จึงอยากถามว่ากฎหมายแบบนี้เขียนมาได้อย่างไร เป็นภาระของประชาชน และถือว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” ศ.ดร.ทวีเกียรติ กล่าว