Loading...

วิสัยทัศน์ EECmd ธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ก้าวข้ามพรมแดนความรู้ สู่ Medical Valley เมืองไทย

 

ปรากฏการณ์ ‘Better Future Beyond Boundaries’ เปิดวิสัยทัศน์ EECmd มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ก้าวข้ามพรมแดนความรู้ สู่ Medical Valley เมืองไทย

วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ.2565

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังก้าวสู่ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ บทบาทใหม่ภายใต้วิสัยทัศน์ Better Future Beyond Boundaries” ที่ตอบโจทย์โลกอนาคตทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบสุขภาพ ข้ามพรมแดนด้านการศึกษา ทลายปัญหาความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่ภารกิจใหม่คือสร้าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ให้เป็น “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษสำหรับกิจการการแพทย์ครบวงจร (EECmd) ธรรมศาสตร์ พัทยา”

     ในปี 2565 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐาน EECmd ทุกมิติ ด้วยแนวคิด “เมืองนวัตกรรมแห่งสุขภาพและเวลเนส” (Thammasat Pattaya: The Health and Wellness Innopolis) ที่สมบูรณ์แบบ บูรณาการความเป็นเลิศทั้งด้านการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บนพื้นที่ 584 ไร่ ณ ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งขณะนี้ได้ออกแบบการดำเนินงานไปแล้ว แบ่งเป็น 4 โซนหลัก ประกอบด้วย ด้านการศึกษา ด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ ด้านบริการ และด้านที่พักอาศัย

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวิสัยทัศน์ขับเคลื่อน EECmd บนพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ให้เป็นต้นแบบศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ขณะเดียวกันได้กำหนดเป้าหมายการเป็น สมาร์ทซิตี้ (Smart City) และ สมาร์ทแคมปัส (Smart Campus) โดยขณะนี้ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลในการก่อสร้าง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พัทยา เรียบร้อยแล้ว มุ่งพัฒนาให้เป็น โรงพยาบาลดิจิทัล (Digital Hospital) ที่มีเครือข่ายศูนย์การแพทย์เฉพาะทางและให้บริการชุมชนโดยรอบพื้นที่ทางเศรษฐกิจของ EEC พร้อมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Next Generation Automotive) และอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Hub) อย่างเป็นระบบและครบวงจร เรามั่นใจว่าวิสัยทัศน์ในการพัฒนา EECmd นับจากนี้ไป จะช่วยยกระดับศักยภาพและความรู้คนไทยสู่มาตรฐานระดับโลก

     การดำเนินงานครั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรอีกมาก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา และภาคธุรกิจ มีเป้าหมายเดียวกันคือทำให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub โดยวันที่ 5 เมษายน 2565 มีการจัดงาน THAMMASAT EECmd Vision “Now and Next” แสดงศักยภาพของนวัตกรรมทางการแพทย์และวิศวกรรมด้าน Health Tech ของ EECmd พิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) กับภาคี 25 หน่วยงาน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “4F” ได้แก่  F1 Future Workforce สร้างพลังการทำงานแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มพัฒนาการศึกษาและการวิจัย, F2 Future Workplace พัฒนาที่ทำงานแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มความร่วมมือด้าน Digital Health, F3 Future Life and Society สร้างคุณภาพชีวิตและสังคมแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน Utility และ F4 Future Collaboration พัฒนารูปแบบความร่วมมือแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มความร่วมมือด้านนวัตกรรมการศึกษา การพัฒนาที่ดิน ศูนย์ความเป็นเลิศ และ Startup

     รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ศูนย์พัทยา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา คือพื้นที่แห่งอนาคตที่ไม่ใช่แค่ แคมปัสการศึกษา แต่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็น Medical Valley ต้นแบบของประเทศไทย โดยบูรณาการสร้างระบบการแพทย์ครบวงจร ทั้งการผลิตบุคลากร การศึกษาวิจัย การรักษาและการส่งเสริมสุขภาพไว้ในพื้นที่เดียวกัน เราจะได้เห็นสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยการแพทย์ชั้นสูง โรงพยาบาลดิจิทัล ศูนย์ดูแลสุขภาพ (Wellness Health Resort) ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Senior Living) และศูนย์กีฬาขนาดใหญ่ (Sport Complex) พร้อมเชื่อมต่อการลงทุนกับกลุ่ม Health Tech ชั้นนำระดับโลกมากมาย​ ภายใต้แนวคิด Better Future Beyond Boundaries มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยวิธีการใหม่ๆ ก้าวข้ามพรมแดนการทำงานแบบเดิมของสถาบันการศึกษา ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศติดต่อเข้ามาเพื่อลงทุนในพื้นที่ EECmd จำนวนมาก นับเป็นการก้าวสู่มิติใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในทศวรรษหน้า

     ความน่าสนใจของพื้นที่ EECmd มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์พัทยา คือนักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเวลา 11-13 ปี อาทิ การเว้นและลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นภาษีอากรขาเข้า การหักลดหย่อนพิเศษ รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกิจการด้วย พร้อมกันนั้น ยังมีสิทธิในการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาพักอาศัยในประเทศไทยพร้อมครอบครัว และสิทธิในการซื้อคอนโดมิเนียมในสัดส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 50 ได้

     รศ.นพ.กัมมาล กล่าวอีกว่า การดำเนินงาน EECmd จะไม่ได้นำเรื่องเงินเป็นตัวตั้ง แต่ยึดมั่นในปรัชญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มองประโยชน์เชิงสังคม แก้ความเหลื่อมล้ำของประเทศเป็นหลัก โฟกัสไปที่ ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกต้องได้รับประโยชน์ จากการใช้บริการ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พัทยา ซึ่งเป็น Digital Hospital และอนาคตการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ซึ่งจะประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1. พัฒนาโรงพยาบาลที่ทันสมัยเพื่อให้บริการชุมชนในท้องถิ่น 2. วางแผนผลิตบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล และการดูแลผู้สูงวัย 3. ศึกษาวิจัยและสร้างความก้าวหน้าทางการแพทย์ 4. จัดตั้งศูนย์สุขภาพสำหรับพัฒนาและรองรับการเติบโตด้านการดูแลกลุ่มผู้สูงวัยทั้งในพื้นที่และชาวต่างชาติ 5. เป็นฐานความร่วมมือกับต่างประเทศและเอกชนเสริมความแข็งแกร่งด้านการแพทย์ครบวงจร

     บริการมิติใหม่ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ประชาชนจะสัมผัสได้ถึงประโยชน์เรื่องความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึง เพราะใช้ระบบดิจิทัลเริ่มตั้งแต่การทำเวชระเบียนได้จากที่บ้าน และจองคิวผ่านสมาร์ทโฟน มีหุ่นยนต์นำทางให้คนพิการ หรือพาผู้ป่วยไปสถานที่ตรวจ การรับยาที่บ้าน การปรึกษาโรคด้วยระบบเทคโนโลยีทางไกล เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จัดทีมดูแลสุขภาพในชุมชนต่าง ๆ คู่ขนานไปด้วย  

     นอกจากการรักษาโรคทั่วไปเรายังพัฒนาศูนย์การรักษาโรคเฉพาะทาง ขณะนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสวงหาความเชี่ยวชาญจากนานาประเทศ ยกระดับเป็น “ศูนย์ความเป็นเลิศ” ด้านโรคตา ทางเดินอาหาร รวมถึงกระดูกและข้อ ซึ่งนอกจากประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์แล้วยังดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาใช้บริการอีกด้วย ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC ตอบโจทย์ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)

     “ขณะนี้ EECmd มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศสูงมาก ทุกฝ่ายมองเห็นศักยภาพ องค์ความรู้ และโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายการเป็น Medical Hub ในภูมิภาคนี้ และสร้าง Medical Valley ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมสนับสนุน พร้อมด้วยองค์กรพันธมิตรด้านสาธารณสุขเข้าร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจ เชื่อมโยงระบบข้อมูลเข้าหากันเพื่อประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด”

     ปรากฏการณ์ของ EECmd มิได้มีเป้าหมายที่ความสำเร็จเรื่องส่งเสริมการลงทุนและนวัตกรรมใหม่ด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการดึงศักยภาพที่เหนือกว่าของสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทย อย่าง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” พลิกบทบาท ภารกิจ และวิสัยทัศน์นำสังคมไทย ให้สามารถก้าวข้ามพรมแดนความรู้ไปสู่การแข่งขันในโลกที่ไร้ขีดจำกัดอีกด้วย