Loading...

คุยกับ ‘แนน-นันท์นภัส’ นักศึกษาธรรมศาสตร์ แชร์ประสบการณ์ ‘เยาวชนบนเส้นทางนักการทูต’ ของ UN

ชวนมาพูดคุยกับ แนน-นันท์นภัส นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้มีโอกาสติดตามการปฏิบัติภารกิจของเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย

วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ.2567

     ชวนมาพูดคุยกับ ‘แนน-นันท์นภัส พงศ์วิฑูรย์’ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาสเปนและลาตินอเมริกันศึกษา (HISLAS) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเธอจะมาแชร์ประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม ‘เยาวชนบนเส้นทางนักการทูต ประจำปี 2567’ (Ambassador for A Day) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยที่มีความสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอนาคตด้วยการให้โอกาสเยาวชนได้สัมผัสกับการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานสหประชาชาติและสถานเอกอัครราชทูตต่าง ๆ ในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ

     โดย ‘แนน’ ได้ร่วมติดตามการปฏิบัติภารกิจของเอกอัครราชทูตปิง กิดนิกร (H.E. Ping Kitnikone) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เป็นระยะเวลา 2 วัน

ก่อนจะเป็นหนึ่งในผู้ได้รับการคัดเลือก ประจำปี 2567

     แนน: เมื่อปีที่แล้ว (2566) แนนเห็นประกาศรับสมัครผ่านเพจของ UN in Thailand ค่ะ เลยลองส่งใบสมัครไปแต่ก็ไม่ผ่าน เลยตั้งใจว่าจะรอให้ถึงปีนี้ (2567) แล้วสมัครอีกรอบ พอมาปีนี้ เพื่อน ๆ ที่รู้จักกันและอาจารย์ก็แชร์โพสต์เปิดรับสมัครมาให้ ตอนแรกลังเลว่าจะสมัครดีมั้ย แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจสมัครไป และได้รับการคัดเลือกค่ะ

เปิดมุมมองโลกของนักการทูต

     แนน: กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้เราได้ตามติดการทำงานของท่านทูตจริง ๆ ค่ะ อย่างแนนเองมีโอกาสได้ติดตามท่านเอกอัครราชทูตปิง กิดนิกร (H.E. Ping Kitnikone) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ซึ่งแนนเองมีโอกาสได้พูดคุยเกี่ยวกับการทำงานของท่านทูตและเจ้าหน้าที่ในสถานทูตแคนาดา ได้ร่วมเข้าพบปะกับแขกที่มาพบท่านทูตในวันนั้น ๆ ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงต้อนรับจากสถานทูตออสเตรเลีย เข้าร่วมงานที่จัดโดยสถานทูต รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองวันสตรีสากลที่ UNESCAP ค่ะ

     “การไปร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ช่วยเปิดมุมมองโลกของการเป็นนักการทูตและโลกของผู้หญิงในแวดวงการทูตมากขึ้นค่ะ ท่านทูตเองกลายมาเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของแนนเลยก็ว่าได้ ท่านทูตทำให้แนนเห็นว่าการเป็นผู้นำหญิงที่เก่ง มีความสามารถรอบด้าน จัดการทั้งชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้เป็นอย่างดีนั้นเป็นอย่างไร และทำให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วโลกของนักการทูตมีอะไรมากกว่าที่เราคิดค่ะ”

HISLAS สู่เส้นทางนักการทูต

     แนน: ตอนนี้แนนเรียนอยู่ที่ สาขาวิชาสเปนและลาตินอเมริกันศึกษา (HISLAS) คณะศิลปศาสตร์ ซึ่งการเรียนในสาขานี้ทำให้เรามีโอกาสได้เรียนรู้ทั้งภาษาสเปน ซึ่งเป็น 1 ในภาษาราชการของ UN ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของคนสเปนและคนลาตินอเมริกาอย่างเต็มที่ และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เรามองโลกกว้างขึ้น รู้จักภูมิหลังของผู้คนมากขึ้น ทำให้เข้าใจผู้คนมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็น Soft Skills ที่สำคัญที่ส่งเสริมให้ชาว HISLAS สามารถนำไปต่อยอดในสายงานของนักการทูตในอนาคตได้ค่ะ

ความสำคัญของนักการทูต

     แนน: ในมุมของแนน แนนมองว่าการเป็นนักการทูตไม่ใช่แค่คนที่ทำหน้าที่รักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่เป็นคนที่ทำหน้าที่เป็นภาพลักษณ์ของประเทศ สามารถถ่ายทอดมุมมอง ความคิด และทัศนคติของรัฐบาลในประเทศนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ต้องมาพร้อมกับความรู้ความเข้าใจในประเทศที่ตนออกไปประจำการและความเอาใจใส่ใน Citizen ของตนเองที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้น ๆ ด้วย เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีความรับผิดชอบมากมาย ทั้งต่อประชาชน ต่อรัฐบาลตนเอง และรัฐบาลที่ตนไปประจำการ รวมไปถึงประเทศของตนเองค่ะ

‘นักการทูตผู้หญิง / LGBTQ+’ ที่มองจากมุมเด็กรุ่นใหม่

     แนน: แนนมองว่านักการทูตที่ไม่ใช่ผู้ชายอาจจะมีข้อเสียเปรียบบ้าง ด้วยสังคมของเราหล่อหลอมมาด้วยปิตาธิปไตย กฎระเบียบทางสังคมในหลาย ๆ ครั้งจึงมาจากการตัดสินใจของผู้ชาย ทำให้นักการทูตหญิง หรือ LGBTQ+ อาจจะ struggle ในการทำงานบ้างเป็นบางครั้ง

     แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ผู้หญิง และ LGBTQ+ หลาย ๆ ท่าน ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในแวดวงการทูตและแวดวงการเมืองมากขึ้น ทำให้พวกเธอรวมตัวกัน และสร้าง Women Empowerment ให้กันและกัน จนทำให้ผู้หญิงมีความกล้าที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทในแวดวงนี้มากขึ้นค่ะ

แชร์ประสบการณ์ ‘เยาวชนบนเส้นทางนักการทูต

     แนน: 3 เรื่องหลักที่แนนได้เรียนรู้ คือ การทำงาน ความเอาใจใส่ และความเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งการติดตามท่านทูตทำให้แนนเห็นว่าตารางการทำงานของท่านทูตแน่นตลอดทั้งวัน มีการพบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ภายในสถานทูต รัฐบาลของตนเอง รวมถึงแขกที่มาเข้าพบในแต่ละวันค่ะ

     เรื่องของการจัดการที่เธอสามารถจัดลำดับความสำคัญของการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรื่องนี้แนนว่าท่านทูตเองคงอยากยกเครดิตการทำงานที่มีประสิทธิภาพแบบนี้ให้กับ ‘ทีม’ หรือเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตแคนาดาอย่างแน่นอน ท่านทูตเคยบอกแนนว่า ‘การที่เธอสามารถจัดการกับงานจำนวนมหาศาลในแต่ละวันนี้ได้ เป็นเพราะทีมของเธอที่มากด้วยประสบการณ์และความสามารถ ทำให้เธอสามารถจัดการกับงานต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น’ นอกจากนี้ ท่านทูตยังเป็นคนที่เอาใจใส่กับทุก ๆ รายละเอียดของงาน รวมถึงใส่ใจและให้เกียรติกับเพื่อนร่วมงานและแขกที่มาเข้าพบในแต่ละวันด้วย และทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนที่แนนได้เรียนรู้และจะพยายามนำมาปรับใช้ในการทำงานของตัวเองด้วยเช่นกันค่ะ