Loading...

วิศวกรรมศาสตร์ มธ. ยืนหนึ่ง! กวาด 3 รางวัล เวทีนวัตกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 10 (Motor Expo)

 

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 รางวัลที่ 2 และรางวัลที่ 3 จากการประกวดนวัตกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 10 ในงาน Motor Expo 2019

วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2562

  

          คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างชื่อเสียงอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง ปีนี้ผลงานจาก ห้องปฏิบัติการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ (CED2) คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 จากผลงานระบบคัดกรองอัจฉริยะสำหรับเลนจักรยาน และยังกวาดรางวัลที่ 2 และรางวัลที่ 3 มาด้วย จากผลงานยานพาหนะปัญญาประดิษฐ์ขับเคลื่อนอัตโนมัติสำหรับผู้พิการทางสายตา และผลงานรถเข็นไฟฟ้าสำหรับผู้พิการทางสมองและกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตามลำดับ จากโครงการประกวดนวัตกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 10 (The 10th Motor Expo Automotive Innovation Award 2019) ภายในงานมหากรรมยานยนต์ ครั้งที่ 36 ณ ชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี

     รางวัลที่1 ผลงาน ระบบคัดกรองอัจฉริยะสำหรับเลนจักรยาน โดย นายสุริยา สารธิมา และนายเทพพงษ์ เทพวงศ์ศิริรัตน์

     รางวัลที่2 ผลงาน ยานพาหนะปัญญาประดิษฐ์ขับเคลื่อนอัตโนมัติสำหรับผู้พิการทางสายตา โดย นางสาวภูริชญา อังบุญธร นางสาวพัชรวรรณ ศรีเดช และนายพรหมสุรินท์ พุทธรรมวงศ์

     รางวัลที่3 ผลงาน รถเข็นไฟฟ้าสำหรับผู้พิการทางสมองและกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดย นางสาวชนาการต์ อรุโณทัยสันติกุล นางสาววันท์วลิตา สาทช้าง นายไกรวิทย์ อุดมแสวงทรัพย์ และนายชลการ มโนเย็น

          นายสุริยา สารธิมา นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากและขอขอบคุณ รศ.ดร.ดุลยโชติ ชลศึกษ์ อาจารย์ที่ปรึกษา ที่ค่อยให้คำแนะนำ รวมถึงทุกคนที่มีส่วนร่วมในการทำผลงานครั้งนี้ทั้งหมด

          ผลงานระบบคัดกรองของเราใช้ระบบ AI เข้ามาคัดกรองจักรยานยนต์ และจักรยาน ซึ่งจะคัดกรองจักรยานยนต์ไม่ให้เข้ามาขับขี่ภายในเลนจักรยาน โดยแยกจากความแตกต่างของรูปร่างพาหนะ ซึ่งจะใช้กล้องในการตรวจจับ และส่งข้อมูลไปยัง Raspberry pi เพื่อประมวลผล และส่งสัญญานไปยังระบบไม้กั้นให้เปิด-ปิด ซึ่งไม้กั้นออกแบบให้มีการพับลงเก็บได้ ทำให้ไม่ชนกับเลนจักรยานที่มีหลังคา และเคลื่อนย้ายได้ง่าย นายสุริยา กล่าว

          นายเทพพงษ์ เทพวงศ์ศิริรัตน์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมอีกว่า แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานนี้ เราอยากจะแก้ไขปัญหาเรื่องความมักง่ายของผู้ใช้รถจักรยานยนต์เข้าไปร่วมใช้ทางเลนจักรยาน เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นใกล้ตัว ไม่ใช่แค่ในมหาวิทยาลัย แต่รวมถึงในสังคมด้วย

          ด้าน รศ.ดร.ดุลยโชติ ชลศึกษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า ผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาโครงงานทางวิศวกรรมเครื่องกล โดยเป็นโครงงานที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากโครงงานนักศึกษารุ่นปีที่แล้ว จึงมีความพร้อมที่จะพัฒนาไปสู่ต้นแบบ จัดเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ทางด้านยานยนต์ เราจึงส่งงานเข้าร่วมโครงการประกวดในครั้งนี้

          รศ.ดร.ดุลยโชติ กล่าวอีกว่า ผมรู้สึกชื่นชมและยินดีกับนักศึกษาที่ได้รับรางวัลจากการทำงานหนัก ในความพยายามแก้ไขปัญญามากมายระหว่างการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์นี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์ให้นักศึกษานำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพต่อไป และขอขอบคุณอาจารย์และนักศึกษาอีกหลาย ๆ คนที่ให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านการสร้างชิ้นงานและการเขียนโปรแกรม อย่างไรก็ตาม นักศึกษายังมีงานที่ต้องทำต่ออีกมากทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ เพื่อให้ต้นแบบมีความสมบูรณ์ และสำเร็จตามเป้าหมาย

          ทั้งนี้ โครงการประกวดนวัตกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 10 (10th Motor Expo Automotive Innovation Award 2019) เป็นเวทีให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้แสดงทักษะและความคิดสร้างสรรค์ในการส่งผลงานนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์เกี่ยวกับยานยนต์ ซึ่งอยู่ภายในงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 36 (Thailand International Motor Expo 2019) จัดโดย บริษัท สื่อสากล จำกัด

ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก คุณสายชล อรรถาเวช autoinfo.co.th และ drivetripper.com