Loading...

เรื่องน่ารู้ ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ ‘วันปีใหม่’ ในไทย

ไขข้อข้องใจเรื่องวันปีใหม่ในสังคมไทย ที่มาจากแง่มุมความเชื่อและวัฒนธรรมที่เข้ามาอิทธิพลต่อคนไทย ผ่านอาจารย์ธรรมศาสตร์

วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2566

     ‘วันปีใหม่’ เป็นเทศกาลที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ นับว่าเป็นหมุดหมายของการส่งท้ายสิ่งเก่า เริ่มต้นสิ่งใหม่ของใครหลาย ๆ คน ซึ่งสำหรับสังคมไทยที่มีความหลากหลายและลื่นไหลทางวัฒนธรรม นอกจากการเฉลิมฉลองวันปีใหม่สากลในวันที่ 1 มกราคมของทุกปีแล้วนั้น เรายังมีเทศกาลอื่นที่เรียกได้ว่าเป็น ‘วันปีใหม่’ อันมาจากแง่มุมความเชื่อและวัฒนธรรมที่เข้ามาอิทธิพลต่อคนไทย

     สรุปแล้วเรามีวันปีใหม่กี่วัน ? ไขข้อสงสัยกับ รศ.ดร.ประเสริฐ รุนรา ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะมาเล่าถึงหลักการนับวันปีใหม่ และประวัติศาสตร์ฉบับย่อของวันปีใหม่ในสังคมไทย

การนับวันขึ้นปีใหม่

     การจะพูดถึงวันปีใหม่ ต้องเล่าเท้าความก่อนว่ามีการนับวันปีใหม่รูปแบบใดบ้าง รศ.ดร.ประเสริฐ อธิบายว่า รูปแบบการนับหลัก ๆ ในโลกแบ่งเป็น 2 ระบบคือ การนับแบบจันทรคติ และการนับแบบสุริยคติ

     ระบบการนับ ‘จันทรคติ’ คือการนับตำแหน่งการโคจรของพระจันทร์กับดวงดาว ซึ่งเป็นวิธีนับเก่าแก่เพราะสามารถสังเกตได้ง่าย โดยราศีแปลว่า กอง คือการกองรวมกันของกลุ่มดาวที่ฉากหลังไม่เคลื่อนไหว แต่พระจันทร์จะเคลื่อนไหวไปเรื่อย ๆ โดยในหนึ่งวันจะเคลื่อนประมาณหนึ่งองศา เมื่อครบหนึ่งเดือนจะนับได้ประมาณ 29 วันกับครึ่งวัน แล้วมาเริ่มใหม่ในตำแหน่งใหม่ ราศีใหม่ก็จะขึ้นไปเรื่อย ๆ

     “เรานับถือพระจันทร์เพราะอะไร ? พูดง่าย ๆ พระจันทร์มีผลต่อปรากฎการณ์น้ำขึ้น น้ำลง ซึ่งเกี่ยวพันโดนตรงกับเกษตรกรรม เรานับพระจันทร์เพื่อปลูกพืช วันปีใหม่ที่นับแบบจันทรคติ จึงเป็นหมุดหมายของการเฉลิมฉลองหลังจากการเก็บเกี่ยว หรือหลังจากฤดูฝน” รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว

     ระบบการนับวันปีใหม่แบบ ‘สุริยคติ’ ดั้งเดิมยังมีความคลาดเคลื่อน เพราะนับในรอบปีเพียง 10 เดือน โดยเราสังเกตได้จากการที่โรมันใช้เลขฐาน 10 จะเห็นได้ว่า 4 เดือนสุดท้าย ชื่อของเดือนพร้องกับเลข 7 - 10 ในภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น December ที่พร้องกับเลข 10 เมื่อมีเพียง 10 เดือน ทำให้การนับเคลื่อน เดือนไม่พอดีในรอบปี ทำให้กษัตริย์ของโรมันที่ชื่อจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) และ ออกัสตัส ซีซาร์ (Augustus Caesar) เพิ่มเดือนโดยใช้ชื่อของตนเข้าไป ทำให้ 1 ปี มี 12 เดือน โดยการนับแบบนี้สอดคล้องกับการนับการโคจรของดวงอาทิตย์วันละหนึ่งองศา โดยโคจรรอบตัวเองแล้วเท่ากับ 360 องศา หรือก็คือ 365 วัน จึงกลายมาเป็นการนับวันปีใหม่แบบสากล

ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของวันปีใหม่ในสังคมไทย

     สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม วันปีใหม่แบบไทยดั้งเดิมจริง ๆ จึงมาจากการนับแบบจันทรคติที่สัมพันธ์กับฤดูกาล เราจึงนับช่วง ‘ลอยกระทง’ เป็นวันปีใหม่ สังเกตจากวันลอยกระทงคือ วันเพ็ญ เดือน 12 ซึ่งถัดจากเดือน 12 ก็เป็นเดือนหนึ่ง ที่สัมพันธ์กับการทำเกษตรกรรม โดยจะเห็นว่าพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเริ่มทำประมาณเดือน 6 แถวอีสานเรียกว่าพิธีนาตาแฮก หลังจากนั้นถึงเก็บเกี่ยวข้าวโดยใช้เวลาประมาณ 3 - 4 เดือน พอเลยช่วงเก็บเกี่ยวข้าวน้ำลดพอดี เราจึงทำพิธีเฉลิมฉลอง ฉะนั้นคนสมัยก่อนเวลาลอยกระทงจึงมีการตัดเล็บตัดผมลอยไปกับกระทงเป็นการสะเดาะเคราะห์ปีเก่า เป็นพิธีกรรมดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับเกษตรกรรมที่เรียกว่า พิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน (Rite of Passage) ในช่วงอายุเพื่อบอกว่าปีนี้มันผ่านไปแล้ว หมดฤดูกาลไปแล้ว

     ต่อมาอิทธิพลของศาสนาที่มาจากอินเดีย คือศาสนาพุทธ และพราหมณ์ เข้ามาทำให้มีการนับวันขึ้นปีใหม่ของไทยเป็นวันตรุษสงกรานต์ หรือวันสงกรานต์ เพราะอินเดียนับวันเปลี่ยนปีในช่วงฤดูใบไม้ผลิคือหลังจากช่วงฤดูหนาว สงกรานต์แปลว่าการก้าวเข้ามาสู่ราศีเมษ และ ‘ตรุษ’ เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าตัด แยกออก หรือการตัดจากปีเก่า คนโบราณจึงบอกว่าตรุษสงกรานต์แปลว่าสิ้นปี ในช่วงเวลานี้สมัยก่อนมีโบราณราชประเพณีคือ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เป็นพิธีตัดปีที่มีการทำพิธีสวดอาฏานาฏิยสูตร ขับไล่สิ่งไม่ดีแล้วถึงจะทำพิธีฉลองกันในช่วงสงกรานต์

     ถัดมาคือ วันปีใหม่สากล ซึ่งถูกนำมาใช้ในไทยประมาณปี พ.ศ.2483 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลว่าในยุคนั้นอยากให้ไทยเป็นสากล การเฉลิมฉลองปีใหม่จึงให้เฉลิมฉลองกันช่วงเดียวกับชาติตะวันตก คนไทยจึงหันมาจัดวันปีใหม่ตามปฏิทินสากล แต่เราไม่ได้ทิ้งประเพณีสงกรานต์ไป

     “งานลอยกระทงเราก็ฉลอง สงกรานต์เราก็ไม่ทิ้ง วันปีใหม่แบบสากลเราก็ฉลอง เขาเคาท์ดาวน์เราก็เคาท์ดาวน์ เมื่อก่อนวันปีใหม่พระสงฆ์นอนอยู่ในวัดเงียบ ๆ ฟังพลุเอา แต่ตอนหลังพระก็ปรับให้มีการสวดมนต์ข้ามปี ปัจจุบันการจัดสวดมนต์ข้ามปีก็กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ การที่วันปีใหม่ของคนไทยมีหลายเทศกาล และหลากวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าคนไทยมีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม มันคือการปรับเพื่ออยู่ด้วยกัน ทั้งความเป็นสากล และความเป็นไทย ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือลำดับความเป็นมาของพิธีหรือความเชื่อเกี่ยวกับปีใหม่ของคนไทย” รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว

‘วันปีใหม่’ กับการเป็นหมุดหมายของชีวิต

     วันปีใหม่มีอิทธิพลต่อคนทั้งโลก ซึ่ง รศ.ดร.ประเสริฐ มองว่าเป็นวันที่เป็นหมุดหมายของชีวิต ช่วยให้ลืมเรื่องเก่า เรื่องที่มันผ่านไปแล้ว หมดปีก็ทิ้งมันให้มันจบไปในปีเก่า มาเริ่มต้นใหม่ สร้างความดีใหม่

     “มันเป็นเหมือนเป็นการเตือนสติตัวเองว่าปีใหม่แล้ว ถึงเวลาเริ่มอะไรใหม่ ๆ หรือสานต่อความดีที่เคยทำต่อไป ดังนั้นเทศกาลปีใหม่จึงเปรียบได้กับหมุดหมายที่สำคัญของชีวิตเรา แต่อย่างไรก็แล้วแต่ปีใหม่ก็มีโทษ ถ้าเราฉลองกันจนลืมสติ อาจทำให้ปีใหม่กลายเป็นหมุดหมายในการเริ่มต้นสิ่งไม่ดีในชีวิต ดังนั้นจึงอยากฝากให้ทุกคนมองวันปีใหม่ให้เป็นหมุดหลักของการทำเรื่องดี ๆ ต่อไป” รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว