Loading...

องค์กรจะบริหาร ‘Generation Gap’ อย่างไร เพื่อให้ดีต่อใจกับทุกฝ่าย

ภาพรวมของในองค์กรนั้น ปัญหาที่ต้องเผชิญคือ ความต่างระหว่างช่วงวัยในการทำงาน ทำให้องค์กรต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ แล้วทางออกของปัญหานี้จะถูกแก้ไขอย่างไรให้ลงตัวกับทุกฝ่าย...

วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2566

     “ถ้าให้ทำงานเดิม ๆ ซ้ำ ๆ คนรุ่นใหม่จะไม่ทน งานต้องมีความท้าทาย เป็นเรื่องที่ต้องพยายามคิดและออกแบบงาน”

     ทุกวันนี้ภาพรวมขององค์กรในทุกองค์กร ปัญหาที่ต้องเผชิญนอกเหนือจากเนื้องานที่รับผิดชอบ คือ ความต่างระหว่างช่วงวัยในการทำงาน (Generation Gap) เพราะในแต่ละช่วงวัย มีการรับรู้ Mindset การมองปัญหา การมองงาน และความคาดหวัง ต่อการทำงานไม่เหมือนกัน ทำให้องค์กรต้องเผชิญกับการแก้ปัญหาเหล่านี้ แทนที่จะได้งานที่เต็มศักยภาพ ฉะนั้น ‘การดีไซน์งาน’ ที่มีความเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยเป็นหนึ่งวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

     ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เช่น คน GEN X มีความมุ่งมั่น อดทน สามารถทำงานเดิมได้ซ้ำ ๆ แต่สำหรับ GEN Z หรือคนในช่วงอายุ 30 ปี หรือน้อยกว่า อาจมองว่าตนมีศักยภาพในการทำงาน มีความสามารถมากกว่าที่จะให้มาทำงานซ้ำ ๆ รวมถึงมีวิธีการมองปัญหาที่แตกต่างกัน อีกประเด็นคือคน GEN X อาจบอกว่า ทำไมเธอไม่สู้งาน แต่ในขณะที่ GEN Z มองว่า ทำไมต้องทำงานแบบเดียวกันซ้ำ ๆ ทั้งที่เราสามารถทำอย่างอื่นได้อีกเยอะ นี่จึงเป็นหนึ่งในปัญหาของคนที่มีช่วงวัยต่างกันพอสมควร

     “ในมุมของผู้บริหาร เมื่อต้องทำงานกับคนรุ่นใหม่ ต้องการให้เขานำศักยภาพออกมาใช้อย่างเต็มที่ เราต้อง ‘ดีไซน์งาน’ ให้มีลักษณะเป็นโปรเจกต์ และให้เขามีส่วนร่วมในการทำงานและรับผิดชอบแต่ละโปรเจกต์มากขึ้น ในส่วนนี้เขาจะได้เห็นทั้งความริเริ่ม เห็นผลสัมฤทธิ์ของงานด้วยตัวเขาเอง และ GEN X จะต้องเป็นผู้ไกด์ไลน์” ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าว

     ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ มองว่า 3 ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในองค์กรทุกระดับเรื่องของ Generation Gap คือ 1. Turnover Rate ที่สูงขึ้น หมายความว่า เราไม่สามารถเก็บคนไว้ในระบบได้ เพราะคนที่เข้ามาใหม่ เมื่อเจอการทำงานที่ซ้ำซากจำเจ เขาก็ไม่ทำ เราก็อาจจะรักษาคนที่เขามีความสามารถไม่ได้ คนจะอยู่กับเราไม่นาน ทำให้เราต้องฝึกคนใหม่ไปเรื่อย ๆ เพราะงานเราไม่มีความท้าทาย

     2. การทำงานในองค์กรจะต้องพบกับความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้อำนวยการ หัวหน้างาน เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในองค์กร แต่คนที่ต้องพบกับปัญหามากคือ ผู้บริหารระดับกลาง ส่วนใหญ่คือคน GEN X มักเป็นเรื่องของ mindset ที่ไม่ตรงกัน และเติบโตมากันคนละบริบท

     และที่สำคัญ 3. คนรุ่นใหม่อาจไม่ได้ทำงานเดียว ฉะนั้นองค์กรจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับงานประจำ บางคนอาจรู้สึกว่างานเสริม ทำให้เกิดรายได้ และสนุกมากกว่า แต่งานประจำแค่ need status พื้นฐานบางอย่าง ทำให้คนไม่ได้ทำงานเต็มศักยภาพ องค์กรจึงต้องนึกถึงการออกแบบระบบการทำงาน เรื่องของวัยที่ต่างกัน ความต้องการ จุดมุ่งหมาย เพราะการทำงานเยอะ ๆ หนัก ๆ ไม่ได้ช่วยให้เราสร้างสรรค์ขึ้น แต่การมีเวลาให้คิดอาจจะทำให้เราครีเอทได้มากขึ้น

     “สิ่งที่มหาวิทยาลัยกำลังทำคือ ระบบการทำงานในมหาวิทยาลัยที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์กับคนหลายช่วงวัย เช่น Work from Everywhere, Flexible Working Hours การทำงานแบบเวลายืดหยุ่น หรือการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ แต่เมื่อนับชั่วโมงแล้วต้องครบ 35 ชั่วโมง คนรุ่นใหม่จะได้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่ต้องการ เพราะคุณได้ทำงานให้องค์กรอย่างเต็มที่แล้ว ชีวิตการทำงานต้องยืดหยุ่น Work Life Balance ต้องมี ซึ่งเป็นสิ่งที่คน GEN X ไม่เคยคิด แต่ GEN ปัจจุบันเขามองว่าชีวิตต้องสมดุล สุขภาพ ครอบครัว และการทำงานจะต้องได้สัดส่วน”

     ในประเด็นแนวทางการแก้ปัญหา ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ เสนอว่า 1. ต้องพยายามพูดคุย ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ปรับมุมมองทั้ง Senior และคนรุ่นใหม่ โดยการตั้งเป้าหมายของหน่วยงานร่วมกัน ข้อดีคือ เมื่อคนใหม่ ๆ เข้ามา เขาจะได้รู้ว่าเป้าหมายคืออะไร และคนรุ่น GEN X ต้องหันมายอมรับเรื่องวิธีการ

     “คน GEN X โตมาในยุค Analog โอเค มันไปสู่เป้าหมายได้ แต่เด็กรุ่นใหม่เขามีวิธีคิดที่ไม่ต้องทำวิธีเดียวกันก็สามารถไปถึงเป้าหมายได้ สุดท้ายการวางเป้าหมายร่วมกันของหน่วยงานจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้คนต่างช่วงวัยอยู่ด้วยกันได้ ต้องคุยกันมากขึ้น หาวิธีการร่วมกัน”

     และ 2. สำหรับเด็กจบใหม่ ให้พยายามลองทำสิ่งที่เราอาจไม่ได้ชอบ แต่ถ้ามันไม่ใช่จริง ๆ เราอาจจะลองเปิดใจและคุยกัน ในขณะเดียวกันผู้บริหารต้องเปิดใจด้วย เด็กรุ่นใหม่ต้องพยายามโฟกัสกับงาน จัดลำดับความสำคัญ และควรจะออกไปใช้ชีวิต พยายามทำความเข้าใจกัน เพราะแต่ละคนมีที่มาที่ไปต่างกัน ส่วนเรื่องของความอดทดนั้น ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับบุคคล