Loading...

มธ. ร่วมจัดมหกรรมแสดงผลงานวิชาการระดับชาติของบุคลากรสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 6

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเครือข่าย จัดงานแสดงผลงานบุคลากรสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา ในหัวข้อเปลี่ยนผ่านเพื่อเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัล

วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2566

     สภาพนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับที่ประชุมสภาข้าราชการ พนักงานและลูกจ้าง มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปขมท.) และเครือข่ายวิจัยและนวัตกรรม ปขมท. จัดโครงการงานมหกรรมแสดงผลงานวิชาการระดับชาติของบุคลากรสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 6 ประจําปี พ.ศ. 2566 ภายใต้หัวข้อ “เปลี่ยนผ่านเพื่อเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัล (Transform with Digital Transformations)” เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนางานประจํา สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และคู่มือการปฏิบัติงานระหว่างบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในโอกาสวาระครบรอบ 90 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2477–2567) และในโอกาสวาระครบรอบ 30 ปี ปขมท. ระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคม 2566 ณ อาคารเรียนรวมกลุ่มสังคมศาสตร์ (SC3) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าภาพจัดการแสดงผลงานระดับชาติของบุคลากรสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 6 รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีอย่างยิ่ง การที่สภาพนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายของที่ประชุมประธานสภาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตระหนักถึงความสําคัญต่อบทบาทหน้าที่ของสภาพนักงานมหาวิทยาลัย ที่เป็นองค์กรสําคัญที่ช่วยขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้ไปสู่วิสัยทัศน์ที่กําหนดไว้

     ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับการทํางานของบุคลากรและองค์กร จึงได้กำหนดจัดงานนี้ขึ้น ตลอดจนให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานและได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ อีกทั้งผู้เข้าร่วมงานมหกรรมสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการทําผลงานร่วมกับบุคลากรจากสถาบันอุดมศึกษาอื่นทั่วประเทศ

     คุณสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกประจํากระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นเวทีสําคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้บุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ได้มีโอกาสแสดงผลงานวิชาการ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ตลอดจนแลกเปลี่ยน ความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งมีโอกาสได้เผยแพร่ผลงาน สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม สู่สาธารณะ

     บุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ ถือได้ว่าเป็นกําลังสําคัญที่จะช่วยผลักดันให้ มหาวิทยาลัยสามารถดําเนินงานตามพันธกิจ และบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กรได้ การจัดงานมหกรรมแสดงผลงานของสายสนับสนุนวิชาการ จะสามารถยกระดับความสามารถของบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ และเปิดโอกาสให้บุคลากรได้พัฒนาตนเอง ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ ที่จะนําไปสู่การพัฒนาองค์กรต่อไป จึงเป็นสิ่งที่ควร สนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง และขอชื่นชมทุกท่านที่มีส่วนสําคัญในการจัดงานครั้งนี้

     คุณเสริม กัลยารัตน์ ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า สภาพนักงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นองค์กรสําคัญที่ช่วยขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้ไปสู่วิสัยทัศน์ที่วางไว้ การส่งเสริมบุคลากรในมหาวิทยาลัยให้สามารถทํางานได้เต็มศักยภาพ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนางานประจําเพื่อพัฒนางานให้มีคุณภาพ เป็นกลไกสําคัญของมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาในการผลิตผลงาน สร้างคนที่มีความรู้ความสามารถ และจิตวิญญาณแห่งการรับใช้สังคม รวมถึงเป็นกําลังสําคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมโลกอย่างเต็มภาคภูมิ

     คุณเรวัต รัตนกาญจน์ ประธานที่ประชุมสภาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปขมท.) กล่าวบทบาทหน้าที่ของ ปขมท. ว่า มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ และระหว่างผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยด้วยกัน เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และยกย่อง โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่ 1. การมีส่วนร่วมของสมาชิกและผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ 2. ประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นสําคัญ และ 3. ประสิทธิภาพและสิทธิผลในการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล โดยที่ประชุม ปขมท. จะยังคงยืนหยัด เพื่อบุคลากรสายสนับสนุนให้มีความก้าวหน้า มีความสุขในการทํางาน work life fit & work life integration ต่อไป

     ทั้งนี้ ภายในงานได้จัดให้มีเวทีการนําเสนอผลงานด้านการพัฒนางานประจํา สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ในรูปแบบภาคบรรยาย และภาคโปสเตอร์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มการพัฒนางานประจํา กลุ่มคู่มือปฏิบัติงาน กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ และกลุ่มนวัตกรรม นอกจากนั้นได้กําหนดให้มีการปาฐกถาพิเศษ การเสวนาวิชาการ ในหัวข้อต่าง ๆ โดยวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมจํานวนทั้งสิ้นกว่า 500 ท่าน