Loading...

ธรรมศาสตร์ ร่วมมือ สสส. ขับเคลื่อน ‘มหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต’

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ขับเคลื่อนโครงการมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต สร้างเสริมสุขภาพกายและใจที่ดีให้กับประชาคมธรรมศาสตร์

วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567

     เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม Mental Health check-up Day ณ อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ 1 (ตึก SC1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

     กิจกรรม Mental Health Check-Up Day เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานโครงการมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต (Future wellness University) ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงการมีสุขภาวะทางจิตที่ดี และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานผู้ให้บริการทางสุขภาพ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นจุดตั้งต้นของการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ เครือข่าย และการบริการสังคม เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพภายในมหาวิทยาลัยร่วมกัน

     ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มธ. กล่าวรายงาน และ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม

     ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต โดยมีกองทรัพยากรมนุษย์ และกองกิจการนักศึกษา เป็นหน่วยงานหลักร่วมขับเคลื่อนเพื่อดำเนินงานเชิงนโยบาย จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ รวมไปถึงการยกระดับและพัฒนาแอปพลิเคชัน TU Greats ด้วยส่วนต่อขยาย Future Wellness Extension สำหรับการให้บริการส่งเสริมสุขภาพในรูปแบบ Online - On site Service Integration เพื่อรองรับความต้องการรับบริการด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

     รศ.เกศินี กล่าวว่า การส่งเสริมให้ประชาคมชาวธรรมศาสตร์มีสุขภาวะที่ดีเป็นภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัย ในการทำให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตในรั้วธรรมศาสตร์ได้อย่างมีความสุข โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพดีในทุกมิติผ่านการดำเนินงานด้านนโยบาย รวมไปถึงการสร้างความตระหนักรู้ให้เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพ

     ด้าน คุณพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยว่า สถาบันการศึกษาควรเป็นพื้นที่ผลิตบัณฑิตที่พร้อมทั้งกายและใจสู่สังคม ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตทั้งในระดับโลกและประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ด้วยภาวะเศรษฐกิจ สถานการณ์โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงในสังคม

     “ผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีศักยภาพและความพร้อม ทั้งด้านองค์ความรู้ คณาจารย์ นวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะเข้ามาช่วยเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย เวลาพูดถึงเรื่องสุขภาพ คนมักจะนึกถึงแพทย์ แต่จริง ๆ แล้ว ทุกคน ทุกภาคส่วนมีความสำคัญในการสร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคม”

     ภายในงานมีการบรรยายในหัวข้อ “คำถามที่พบบ่อยกับการใช้ยาจิตเวช” โดย อาจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงกรกช กังวาลทัศน์ ผู้จัดการสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน โอสถโดม และอาจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงปวลี   เนียมถาวร

     นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสวนาสุขภาวะดี ในหัวข้อ “ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต” บริเวณห้อง Asia-Pacific Resource Center เป็นการร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีของมหาวิทยาลัย ระหว่างประชาคมธรรมศาสตร์ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร รวมไปถึงนักศึกษาที่ให้ความสนใจ

     ในงานเสวนา ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ รักษาการคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สิ่งที่กำหนดสุขภาพของมนุษย์กว่า 70 เปอเซ็นต์มาจากระบบนิเวศ หรือก็คือสังคม สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา รองลงมาคือพฤติกรรมในการใช้ชีวิต และการส่งต่อทางพันธุกรรม แล้วมหาวิทยาลัยทำอะไรได้บ้าง

     “มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็น ‘ผู้อำนวย’ ที่เอื้อให้ประชาคมมีสุขภาพที่ดี อย่างเช่น การทำให้บุคลากรและนักศึกษาสามารถเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพได้ดีขึ้น การส่งเสริม สนับสนุน ให้ทุกภาคส่วนภายในมหาวิทยาลัยหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาวะที่ดี โดยเทรนด์สุขภาพของคนรุ่นใหม่มีความเฉพาะที่ไม่เหมือนกันในแต่ละบุคคล ดังนั้นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพที่สามารถตอบโจทย์รายบุคคลในระดับพฤติกรรมได้ด้วย”

     ด้าน ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวว่า ปัญหาด้านจิตใจ ความเครียด เป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเหล่านี้คือการปรับสมดุลในการใช้ชีวิต ลดความกดดัน ลดการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีผลอย่างมากที่ทำให้หลายคนรู้สึกไม่พอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ นอกจากการปรับวิถีการใช้ชีวิต ปรับพฤติกรรมของเราแล้ว มหาวิทยาลัยควรมีการสร้างระบบคัดกรองที่ดีที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือคนที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพได้ตั้งแต่ต้นทาง

     “มหาวิทยาลัยสุขภาพดีต้องไม่วิ่งตามใคร ไม่แข่งขันกับใคร เราต้องโฟกัสที่ความสุขของผู้คนในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ต้องส่งเสริมให้ทั้งบุคลากรและนักศึกษามีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี”

     อาจารย์ ดร.ธันยพร สุนทรธรรม หัวหน้าโครงการมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต กล่าวว่า ปัญหาด้านสุขภาพมีความหลากหลาย ทั้งปัญหาที่อุบัติใหม่ หรือปัญหาเดิมที่มีอยู่ การร่วมแลกเปลี่ยน พูดคุยกันในวันนี้ทำให้เราเห็นปัญหาส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในรั้วธรรมศาสตร์ ซึ่งต่อไปมหาวิทยาลัยจะร่วมขับเคลื่อนผ่านการกำหนดแผนยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนในการแก้ไขปัญหาและสนับสนุนการมีสุขภาวะที่ดีของทั้งนักศึกษาและบุคลากร

     ทั้งนี้ กิจกรรม Mental Health Check-Up Day มีการให้บริการประเมินสุขภาวะจิตเบื้องต้น โดยความร่วมมือจากคณะศิลปศาสตร์ สาขาจิตวิทยา และกลุ่ม Me Hug นอกจากนี้ยังมีบูธกิจกรรมการให้ความรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก คณะเภสัชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ Thammasat Well Being Center ศูนย์วีว่าชิตี้ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสตาร์ทอัพหมออาสา รวมไปถึงมีการจัดกิจกรรม Workshop สร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าแห่งตน และส่งเสริมการมีสภาวะจิตใจที่ดี โดยความร่วมมือจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน รวมทั้งบ้านพินทุ มูลนิธิบราห์มา กุมารีอีกด้วย