Loading...

‘เด็กธรรมศาสตร์’ คว้า ‘แชมป์โลก’ วางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ 2024

ทีมคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้าแชมป์โลก และอีก 2 รางวัลใหญ่ จากการแข่งขันวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ Sauder Summit Global Case Competition 2024

วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ.2567

     รางวัลชนะเลิศหรือการคว้า ‘แชมป์โลก’ พ่วงด้วยอีก ‘2 รางวัลใหญ่’ จากการแข่งขันวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ Sauder Summit Global Case Competition 2024 ณ มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย (UBC) แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เมื่อช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา คือผลงานที่น่าภาคภูมิใจอย่างถึงที่สุดของประเทศไทย ซึ่งมาจากความสามารถของทีมจาก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     เพราะในแวดวงสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจ (Business School) ต่างทราบดีว่า การแข่งขันรายการ Sauder Summit Global Case Competition ถือเป็นสนามประลองอันทรงเกียรติ และเป็นเวทีในการแสดงศักยภาพของนักศึกษา สถาบันการศึกษา และประเทศ

     และในการแข่งขั้นครั้งล่าสุดนี้ ‘4 นักศึกษา’ ตัวแทนประเทศไทย จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้แก่ มนัสยา พลอยนำพล, สุชาดา เจริญกิตติธรรม, บุณย์บุริศร์ กิตติรัตนคุณ และ แสนเสน่ห์ มุณีกานนท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 บริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ (BBA) ก็ได้ประกาศความยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทย ด้วยการขึ้นแท่นเป็นอันดับหนึ่ง จาก 16 ทีมมหาวิทยาลัยด้านธุรกิจทั่วโลก ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมแข่งขัน

     มากไปกว่านั้น ทีมนักศึกษาธรรมศาสตร์ ยังคว้าเพิ่มรางวัล People Choice Award จากคะแนนโหวตอย่างเป็นฉันทามติของผู้เข้าร่วมชมการแข่งขัน และ ดร.วรพงษ์ จันยั่งยืน ที่ปรึกษาคณบดีด้านวิชาการและกิจกรรมนักศึกษา ประจำโครงการปริญญาตรีบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ (BBA) ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาก็สามารถคว้ารางวัล Best Faculty Advisor มาครองได้สำเร็จด้วย

     สำหรับ Sauder Summit Global Case Competition เป็นการแข่งขันวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ ใช้เวลา 5 วัน มีการกำหนดโจทย์ในหลากหลายอุตสาหกรรมให้แต่ละทีมได้วางแผน ทั้งการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน การขยายธุรกิจ โดยกรรมการผู้ตัดสินจะเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมภาคนั้น ๆ ซึ่งในปี 2024 มี 16 มหาวิทยาลัยชั้นนำเข้าร่วม อาทิ Copenhagen Business School, CUHK Business School, University of Glasgow, Adam Smith Business School ฯลฯ

     การแข่งขันจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม 3 รอบ โดยรอบแรกและรอบสองมีเวลารอบละ 5 ชั่วโมง ผู้เข้าแข่งขันจะได้รับโจทย์เป็นข้อมูลประมาณ 20 หน้ากระดาษ ซึ่งในระหว่างการแข่งขันไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ เมื่อหมดเวลา กรรมการจะจัดลำดับทีมที่ได้รับคะแนนมากไปหาน้อย ซึ่งลำดับจะมีผลต่อการแข่งขันในรอบสุดท้าย

     การแข่งขันรอบสุดท้าย จะมีเวลาให้ทั้งหมด 24 ชั่วโมง และเปิดโอกาสให้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ รอบนี้หลักการคล้ายคลึงกับสองรอบแรก แต่จะเพิ่มความเข้มข้นเรื่องรายละเอียดของเนื้อหาที่ต้องนำเสนอ โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 รอบย่อย เพื่อหาทีมที่ชนะมาเจอกันในรอบตัดสิน หรือ Final

     มนัสยา เล่าว่า ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ หรือ Final มีเวลาทั้งหมดทีมละ 30 นาที โดยจะนำเสนอ 20 นาที และตอบคำถามกรรมการ 10 นาที ทีมของธรรมศาสตร์ได้รับโจทย์เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ซึ่งทีมเห็นร่วมกันว่ายาก เพราะนอกจากมีเวลาจำกัดแล้ว ยังต้องอาศัยความเข้าใจลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมด้วย

     อย่างไรก็ดี ทีมธรรมศาสตร์ก็ค่อนข้างมีความมั่นใจ เพราะในระหว่างเรียนเคยมีประสบการณ์ในการแข่งขันทางเคสธุรกิจมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 รอบ และมีประสบการณ์จากการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยอีกไม่น้อย และทำการฝึกซ้อมกันมาอย่างหนัก ฉะนั้นเมื่อได้รับโจทย์มาก็เริ่มช่วยกันคิดแผน จากนั้นก็แบ่งงานกันเป็นสัดส่วน ทั้งด้านวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน ด้านการนำเสนอกลยุทธ์ที่จะมีอยู่ราว 2-3 แบบ ด้านการเงินและความเสี่ยง

     มนัสยา เล่าต่อไปว่า จุดแข็งของทีมธรรมศาสตร์คือเรามีความเข้าใจในอุตสาหกรรม ซึ่งคณะกรรมการผู้ตัดสินก็ชื่นชมว่าทีมเรามีความเข้าใจในอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี รวมถึงทักษะการวิเคราะห์เป็นอย่างดี และยังให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องไม่ให้ออกมาน่าเบื่อ เพราะบางครั้งกลยุทธ์ของแต่ละทีมจะคล้ายกัน แต่วิธีการนำเสนอต่างกัน

     “มาถึงตอนนี้คงต้องบอกว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยสำคัญมาก และมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในครั้งนี้ เนื้อหาในห้องเรียนเป็นฐานคิดที่ดี กิจกรรมและการยกเคสในห้องเรียน รวมถึงการแข่งขันเคสธุรกิจต่าง ๆ ถูกนำมาประยุกต์ใช้ หลักสูตรการเรียนการสอนที่ทำให้นักศึกษาเอาไปใช้งานจริงมีผลต่อการแข่งขันจริง พูดได้เลยว่าเอาความรู้จากห้องเรียนออกมาใช้” มนัสยา กล่าว

     นอกเหนือจากตัวของผู้เข้าแข่งขันแล้ว ทีมสนับสนุนจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์หลายท่านและพี่ ๆ ศิษย์เก่าที่เข้ามาเป็นโค้ช สอนพื้นฐานในทุกอุตสาหกรรมให้มีความเข้าใจตั้งแต่สมัยเรียนชั้นปี 1 และที่ขาดไม่ได้เลยคือ อาจารย์ ดร.วรพงษ์ ที่ทุ่มเทและคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดในการแข่งขันทุก ๆ รอบ

     มนัสยา มองว่า สิ่งที่ได้จากการแข่งขันจะสามารถนำไปต่อยอดการทำงานในอนาคตได้ เพราะเธอวางแผนไว้ว่าจะเข้าทำงานด้านการเงิน

     “จริง ๆ ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะฯ โดยเฉพาะที่ปรึกษา เพื่อนร่วมทีม และโค้ชที่ค่อยให้คำแนะนำ ส่วนตัวอยากให้เด็กไทย-เยาวชนไทยได้รับการสนับสนุนและได้รับประสบการณ์ที่ดีเหมือนที่เราได้รับในครั้งนี้ เพราะแรงสนับสนุนที่ได้จากองค์กรหรือจากคนที่มีประสบการณ์ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างดีจริง ๆ” มนัสยา ทิ้งท้าย