Loading...

เรียนรู้แนวทางการทำวิจัยไปกับนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“เปิดมุมมองการศึกษาวิจัยของนักวิจัยที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นจากงานวันนักประดิษฐ์แห่งประเทศไทยประจำปี 2562”

 

 

          เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมาสภาวิจัยแห่งชาติได้จัดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อมอบรางวัลวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ทั้งนี้คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 3 ท่าน คือ 1. ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล สาขานิติศาสตร์ 2.ศาสตราจารย์ ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา สาขาเศรษฐศาสตร์ และ 3.ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ สาขาสังคมวิทยา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงความสำเร็จในหนทางนักวิจัยของอาจารย์ทั้งสามท่าน ครั้งนี้เลยขอเชิญทุกคนมาลองฟังมุมมองของนักวิจัยดีเด่นทั้ง 3 ท่านว่ามีแนวทางการทำงานวิจัยแบบใดที่ทำให้สามารถเดินทางมาสู่จุดสำคัญนี้ได้

 

          สำหรับนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติท่านแรกเราลองมาเปิดแง่มุมการศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรวมอาจารย์มองว่าหัวใจของการทำวิจัยคือเรื่องการมีใจรักต่อเรื่องนั้น โดยภาพรวมอาจารย์ทำงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชาติพันธุ์วิทยา ซึ่งอาจารย์มุ่งเน้นการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์และชาติพันธุ์ธำรง ส่วนอีกเรื่องที่อาจารย์ให้ความสนใจคือประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยเฉพาะการหาความหมายทางด้านวัฒนธรรมของจิตรกรรมพระพุทธศาสนาในสมัยพุกาม

          ฉะนั้นสำหรับในมุมมองของอาจารย์ต่อการทำงานด้านการวิจัย อาจารย์เล็งเห็นว่าการทำงานวิจัยที่ดีและมีประสิทธิภาพสิ่งสำคัญคือนักวิจัยต้องสามารถพัฒนาความรักความชอบของตัวเองในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีความลุ่มลึกและเป็นอิสระ การทำงานวิจัยจำเป็นต้องอาศัยความรักในการทำงานเพื่อให้สามารถผลิตงานที่มีคุณภาพออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการวิจัยจึงเป็นเสมือนปลายของการแสวงความรู้ในสิ่งที่เรารักมาอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะสรุปจบด้วยผลการศึกษาที่เป็นรูปเล่มการวิจัย

 

          ในลำดับถัดมาสำหรับอีกหนึ่งนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติที่จะมาแลกเปลี่ยนแนวทางการศึกษาวิจัยคือ ศาสตราจารย์ ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยงานวิจัยที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะของอาจารย์นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษาวิจัยด้านความเหลื่อมล้ำ โดยเน้นศึกษาสภาพสังคมที่เป็นจริง ซึ่งนี่ถือเป็นห้องแลปทางด้านสังคมศาสตร์ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมตัวแปรหลาย ๆ ตัวได้ตามที่ทฤษฎีบอกไว้ ฉะนั้นการศึกษาเรื่องเหล่านี้จึงจำเป็นต้องมีกรอบความคิดที่มีความชัดเจน ทั้งนี้ปกติการศึกษาวิจัยนั้นเป็นความพยายามในการสังเคราะห์และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ฉะนั้นมันจึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดความล้มเหลวระหว่างทางของการศึกษา

          ในทัศนะของอาจารย์มองว่าความล้มเหลวเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งไม่ดีแต่กลับจะเป็นประโยชน์อย่างมาต่อการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ของนักวิจัย เราจำเป็นต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้น ซึ่งความล้มเหลวจากการวิจัยเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจโลกมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญยิ่งเราศึกษาวิจัยมากเท่าไหร่สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อเนื่องในการเอาไปใช้สอนนักศึกษาในห้องเรียน

 

          สำหรับสุดท้ายเรามาลองฟังมุมมองด้านการวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันดูบ้าง โดยส่วนตัวอาจารย์ให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งในปีที่แล้วอาจารย์ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดีจากสภาวิจัยแห่งชาติด้วย ในงานวิจัยเกี่ยวความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล ซึ่งเป็นการศึกษาเปรียบเทียบประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ทั้งนี้ผลงานชิ้นนี้ของอาจารย์ได้ถูกผลักดันในระดับคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2561 ให้จัดทำแก้ไขกฎหมายตามข้อเสนอของงานวิจัยที่อาจารย์ได้ทำการศึกษา โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการแก้ไขในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา

          สำหรับอีกงานวิจัยที่อาจารย์ได้ทำการศึกษาคือเรื่องการบันทึกเสียงและบันทึกภาพในห้องพิจารณาคดี ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้นำไปทดลองปฏิบัติแล้วใน 6 ศาล อันเป็นผลมาจากข้อเสนอแนะของงานวิจัยที่อาจารย์ได้ทำการศึกษาทุกประการ

          นี่ก็คือมุมมองด้านการวิจัยของนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2562 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้ง 3 คนที่มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการศึกษาวิจัยว่าจะทำอย่างไรให้มีความก้าวหน้า และทำอย่างไรให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้จริงได้