Loading...

YPIN Factsheet no.5 ทุนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในต่างประเทศ

“เผยแหล่งทุนสำหรับนักวิจัยเพื่อไปเพิ่มพูนความรู้และเผยแพร่ผลงานในต่างประเทศ”

 

 

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งเป้าหมายยกระดับการศึกษา การวิจัย และการพัฒนาเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยในระดับสากลในอนาคต ฉะนั้นสำหรับระหว่างปี 2561-62 นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีโครงการปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อมุ่งหวังให้นักวิชาการ อาจารย์ และบุคลากรด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย ร่วมกันผลิตผลงานทางด้านวิชาการ งานวิจัย และงานนวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพของมหาวิทยาลัยในด้านการศึกษาวิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้มหาวิทยาลัยจัดให้มีแหล่งทุนมากมายเพื่อสนุบสนุนบุคลากรของมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมความสามารถอย่างเต็มที่ ปัจจุบันมหาวทิยาลัยมีทุนสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการเพิ่มพูนความรู้ในต่างประเทศสำหรับบุคลากรที่ต้องไปนำเสนอผลงานในต่างประเทศ และเก็บเกี่ยวความรู้ใหม่ ๆ จากงานสัมมนา เพื่อใช้ต่อยอดการเรียนรู้และพัฒนาการเรียนการสอนภายในชั้นเรียน

          ดังนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายในการยกระดับผลงานวิจัยและนวัตกรรมทั้งปริมาณและคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับสูงขึ้นในระดับสากล จึงสนับสนุนให้คณาจารย์และนักวิจัยได้มีโอกาสในการนำเสนอผลงานทางวิชาการ ผลงานสร้างสรรค์ และสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมในต่างประเทศ จึงได้กำหนดให้มีการจัดสรรทุนอุดหนุนการนำเสนอผลงานทางวิชาการ ผลงานสร้างสรรค์ และสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมในต่างประเทศ

ทุนสนับสนุนเพื่อเพิ่มพูนความรู้และเผยแพร่ผลงานในต่างประเทศ

          ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งทุนสำคัญที่สนับสนุนสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรทางการศึกษาและด้านวิจัยของมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสไปนำเสนอผลงานทั้งทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมในต่างประเทศ ทั้งยังจะเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับนักวิจัยของมหาวิทยาลัย จากการเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการที่น่าสนใจอันจะช่วยส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางด้านวิชาการระหว่างนักวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในต่างประเทศ ตลอดจนการติดตามองค์ความู้ทางด้านวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ย่อมช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถก้าวทันองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ทั้งนี้ทุนที่มอบให้นั้นครอบคลุมหลากหลายด้าน

          ปัจจุบันกรอบการให้ทุนสนับสนุนนักวิจัยและบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีกรอบวงเงินในการสนับสนุนไว้อย่างชัดเจน สำหรับการนำเสนอผลงานวิชาการ ผลงานสร้างสรรค์ และสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมในต่างประเทศ แบ่งตามภูมิภาค คือ 1. ทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลียและโอเซียเนีย 60,000 บาท 2. ทวีปยุโรป 80,000 บาท 3. ทวีปอเมริกา และทวีปแอฟริกา 100,000 บาท

          ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายที่สามารถขอรับการสนับสนุนนั้นประกอบด้วยค่าเดินทางตั๋วเครื่องบินไปกลับจากประเทศไทยไปยังประเทศปลายทางในราคาประหยัด ค่าเบี้ยเลี้ยงและที่พักระหว่างการเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการ หรืองานแสดงผลงานทางด้านนวัตกรรม นอกเหนือจากนี้มหาวิทยาลัยยังสนับสนุนเงินเรื่องค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องอีกด้วย

          ทั้งนี้ทุนอุดหนุนในแต่ละประเภทผลงานมีความแตกต่างกันดังนี้ สำหรับบทความวิชาการและการนำเสนอในรูปแบบ ORAL PRESENTATION/POSTER PRESENTATION และได้รับการตีพิมพ์ PROCEEDING หรือ วารสาร ที่ปรากฏในฐาน SCOPUS หรือ ISI ผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม และ ผลงานสร้างสรรค์ ได้รับทุน 100% และในส่วนของบทความวิชาการและการนำเสนอในรูปแบบ ORAL PRESENTATION/POSTER PRESENTATION และได้รับการตีพิมพ์ PROCEEDING หรือ วารสาร แต่ไม่ปรากฏในฐาน SCOPUS หรือ ISI ได้รับทุน 70% หากยื่นขอรับการตีพิมพ์ในฐาน SCOPUS หรือ ISI ได้รับเพิ่ม 30%