Loading...

YPIN Factsheet no.8 ข้อมูลงานวิจัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

"งานวิจัยการเมืองการปกครองไทยอีกหนึ่งจุดแข็งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"

 

 

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเป้าหมายอย่างแน่วแน่ในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นมหาวิทยาลัยด้านการวิจัยชั้นนำระดับสากล โดยในช่วงปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ผลักดันยุทธศาสตร์ปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยปรับลดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำวิจัย รวมถึงการเพิ่มรางวัลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ตลอดจนการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการงานวิจัยมาใช้ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโปรแกรม SciVal ซึ่งสามารถทำงานได้หลากหลายรูปแบบตามแต่ผู้เข้าสู่ระบบต้องการจะศึกษาเพิ่มเติมข้อมูล ทั้งยังช่วยให้การมองภาพการศึกษาวิจัยของทั้งระดับมหาวิทยาลัยและระดับคณะมีความชัดเจนเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เมื่อลงไปในเชิงรายละเอียดเราเห็นความโดดเด่นของหลากหลายแขนงวิชาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สามารถทำงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะกลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่ทาง SciVal ได้มีการวิเคราะห์จุดแข็งของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาให้ดูกัน

ธรรมศาสตร์โดดเด่นอย่างไรในกลุ่มรัฐศาสตร์

          โปรแกรม SciVal มีคุณลักษณะและคุณประโยชน์สำคัญ คือการวิเคราะห์ข้อมูลการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในฐานข้อมูลสากลแบบรอบด้าน ทำให้เราเห็นคุณลักษณะและศักยภาพแต่ละด้านของกลุ่มวิชาต่าง ๆ ทั้งนี้จากการใช้โปรแกรมดังกล่าวเข้าไปศึกษาในตัวคณะรัฐศาสตร์ ตามที่ทาง SciVal ได้มานำเสนอให้กับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าในช่วงตลอดการประมวลการตีพิมพ์ผลงานในกลุ่มสาขานี้มีบทความวิจัยและบทความวิชาการตีพิมพ์ในฐานข้อมูลสากลทั้งสิ้น 25 ชิ้น และเป็นที่น่าสนใจว่าว่าในจำนวนนี้มีการอ้างอิงบทความดังกล่าวสูงถึง 34 ครั้ง กล่าวคือค่าเฉลี่ยการอ้างอิงต่อหนึ่งบทความวิจัยมีค่าถึง 1.4 ทั้งนี้การประมวลทั้งหมดมาจากการวิเคราะห์คณาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์เพียง 13 คนเท่านั้น

          เมื่อมาดูกลุ่มลักษณะเนื้อหาของบทความวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในฐานข้อมูลสากลพบว่างานวิจัยส่วนใหญ่ที่คณาจารย์และนักวิจัยในคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความสนใจในการศึกษาและตีพิมพ์คือกลุ่มสังคมศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 88.9 รองลงมาคือศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยคิดเป็นร้อยละ 7.4 ตามมาด้วยกลุ่มวิชาธุรกิจ การจัดการ และการบัญชี คิดเป็นร้อยละ 3.7 ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นจุดแข็งสำคัญของการผลิตงานวิจัยในกลุ่มสาขาวิชาย่อยต่าง ๆ ที่มีผลิตภาพในการผลิตงานวิจัยที่มีคุณูปการสำคัญต่อภาพรวมการทำวิจัยของทั้งมหาวิทยาลัย

SciVal ช่วยให้เห็นจุดแข็งสำคัญของคณะรัฐศาสตร์

          เมื่อลองประมวลข้อมูลในเชิงรายละเอียดมากยิ่งขึ้นพบว่างานวิจัยที่มีการตีพิมพ์ในกลุ่มวิชารัฐศาสตร์ส่วนใหญ่มีการตีพิมพ์ในหลากหลายวารสารที่เป็นวารสารชั้นนำในกลุ่มสาขาวิชา โดยเฉพาะอย่างในวารสาร Journal of Contemporary Asia ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างมากในวงวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ มีค่าการอ้างอิงเฉลี่ยตกราว 1.58 ต่อชิ้น แต่สำหรับผลงานของคณะรัฐศาสตร์ที่ตีพิมพ์ในวารสารนี้มีการอ้างอิงสูงถึง 7 ครั้งด้วยกัน นี่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในฐานข้อมูลสากลของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          ทั้งนี้งานวิจัยของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความโดดเด่นในหลากหลายด้านด้วยกัน เช่นงานวิจัยเรื่องการเมืองการปกครองไทย อาเซียน มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน และสิงคโปร์เป็นต้น จากการประมวลด้วยโปรแกรม SciVal สะท้อนให้เห็นว่างานวิจัยที่ถือเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับอย่างมากคืองานวิจัยเกี่ยวกับการเมืองไทย ซึ่งมีผลงานการตีพิมพ์สูงถึง 9 ชิ้น ทั้งนี้เมื่อเราเจาะไปดูในหมวดหมู่งานวิจัยเรื่องการเมืองไทย พบว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความโดดเด่นที่สุดในโลก ในการศึกษาเรื่องการเมืองไทย โดยมีผลงานตีพิมพ์ทั้งสิ้น 18 ชิ้น และมีการอ้างอิงสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติของทั้งโลกกว่าร้อยละ 14

          สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เราเห็นว่าการผลักดันงานวิจัยด้านรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่ดีสามารถเกิดขึ้นได้ และการผลิตงานวิจัยในกลุ่มสาขาวิชานี้ในระดับสากลสามารถทำได้จริง และเห็นผลเป็นรูปธรรมไม่ต่างไปจากงานวิจัยในกลุ่มวิทยาศาสตร์