Loading...

การวิจัยเพื่อตอบโจทย์ตัวเอง มหาวิทยาลัย และสังคม

"รู้จักแนวทางการวิจัยเพื่อตอบโจทย์ตัวเอง มหาวิทยาลัย และสังคมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์"

 

 

          สำหรับนักวิจัยและคณาจารย์ การทำวิจัยถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาภาพรวมการทำงานให้มีศักยภาพมากขึ้น ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอดอย่างเป็นระบบ มีการบูรณาการ และมีความทันสมัยตลอดเวลา ทั้งนี้นักวิจัยแต่ละท่านมีแนวทางการทำวิจัยที่แตกต่างกันเพื่อตอบโจทย์บางสิ่งบางอย่างทั้งต่อตัวเอง มหาวิทยาลัย และสังคมภายนอก ซึ่งการจะบูรณาการการวิจัยเพื่อตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน มีการวางแผน และบริหารจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ หนึ่งใน YPIN Ambassador ถือเป็นหนึ่งในนักวิจัยรุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรและนวัตกรรมการเกษตร และผ่านประการณ์การพัฒนานวัตกรรมเพื่อบูรณาการผลลัพธ์เพื่อตอบโจทย์ตัวเอง มหาวิทยาลัย และสังคม ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ เลยถือโอกาสให้อาจารย์ได้พูดคุยถึงงานวิจัยของตนเอง และพาเราไปรู้จักเครื่องมือและนโยบายสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภาพรวมงานวิจัยที่สนใจและทำไมต้อง “วิจัยแบบตอบโจทย์รอบด้าน”

          ก่อนอื่นต้องบอกว่าเรานิยามตัวเองว่าเป็น “นักโรคพืช” คือจบการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร และต่อมาก็ทำงานวิจัยและศึกษาเฉพาะทางเกี่ยวเนื่องกับโรคพืช เพราะคิดว่านี่เป็นจุดสำคัญที่จะช่วยยกระดับการเกษตรกรรมของประเทศไทย โดยอาศัยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วย ปัจจุบันการวิจัยส่วนใหญ่มีหลายรูปแบบทั้งในส่วนการคิดค้นสาเหตุการเกิดโรค การคิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และการคิดค้นนวัตกรรมร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศมากยิ่งขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือ งานวิจัยส่วนใหญ่ตอนนี้เน้นการศึกษาเชิงประยุกต์ เพื่อให้งานวิจัยได้รับการต่อยอดสู่การใช้งานจริงในเชิงเศรษฐกิจ เป็นการใช้วิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยในเรื่องการทำธุรกิจ หรือ Science Business

          งานวิจัยที่ผ่านมาเราเน้นการศึกษาเชื้อสาเหตุของโรคพืช เพื่อให้สามารถหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ โดยเน้นการใช้ธรรมชาติเข้าไปควบคุมกันเอง หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ชีววิธีในการควบคุมเชื้อโรค” ซึ่งจะเน้นใช้ รา หรือ แบคทีเรีย ที่มีอยู่ในระดับพื้นที่ท้องถิ่นต่าง ๆ โดยพยายามคัดเลือกสายพันธ์เหล่านี้เข้ามาและพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู่ประกอบการสามารถนำไปใช้ต่อยอดในการทำธุรกิจเพื่อป้องกันการเกิดโรคพืช งานวิจัยส่วนใหญ่ที่เริ่มดำเนินงานนั้นจะพยายามตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งเรามีเครือข่ายอยู่ เพื่อให้งานวิจัยมันสามารถนำไปใช้ได้จริงมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ นอกจากตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจแล้ว องค์ความรู้ต้องสามารถส่งต่อให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้ด้วย ซึ่งนี่คืองานวิจัยที่ผมเน้นการทำงานมาตลอด

          ยกตัวอย่างงานวิจัยที่มีการต่อยอดสร้างเป็นนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่าง Film to Fly นวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ด้วย โดยเรานำเอาสารของยี่หร่ามาผสมคิดค้นทำเป็น Film เคลืบบนพื้นผิวของกล้วยหอม ซึ่งสามารถช่วยยืดอายุได้เพิ่มขึ้น 1-2 เดือน นวัตกรรมนี้ช่วยให้ภาคการส่งออกสินค้าเกษตรกลุ่มนี้มีโอกาสมากยิ่งขึ้นในการขยายตลาดการส่งออกไปยังต่างประเทศ ในขณะเดียวกันเราก็มีกลุ่มงานวิจัยทางด้านจุลินทรีย์ ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาปุ๋ยชีวภาพรูปแบบใหม่ ที่ดึงเอาแบคทีเรียหลากหลายสายพันธ์ที่มีประโยชน์ในการตรึงไนโตรเจน อันเป็นธาตุอาหารสำคัญของพืช งานวิจัยเหล่านี้จะช่วยให้เกษตรกรในปัจจุบันและอนาคตสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ ตอบโจทย์แนวนโยบายของภาครัฐที่ต้องการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้เป็น 5 ล้านไร่ในอนาคต เห็นได้ว่างานวิจัยที่เราทำมาส่วนใหญ่เน้นตอบโจทย์แนวทางการพัฒนาประเทศ ทั้งยังช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วย

เพราะธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชน งานวิจัยจึงอยู่แต่ในห้อง Lab ไม่ได้

          นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจำนวนมากทำงานวิจัยกันอยู่ในห้องปฏิบัติการ โดยละเลยที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมสังคมภายนอก ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าเราไม่ควรทำเช่นนั้น นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ควรออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกมากยิ่งขึ้น จริงอยู่ว่างานวิจัยพื้นฐานยังคงมีความสำคัญต่อการพัฒนาต่อยอดและการประยุกต์ใช้ ซึ่งผมก็ทำงานส่วนนี้ แต่ปัญหาคือหลายคนยังคงทำอยู่เพียงขั้นนี้เท่านั้น เราในฐานะกลไกและฟันเฟืองหนึ่งของสังคมจำเป็นต้องทำงานให้ตอบโจทย์ภายนอกมากขึ้นด้วย นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ต้องทำงานได้หลากหลายด้านมากขึ้น

          ผมมีความเข้าใจว่าทุกวันนี้นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยมีแรงกดดันจากหลากหลายทาง โดยเฉพาะการตอบโจทย์ตัวเอง มหาวิทยาลัย และสังคมภายนอก ผมมองว่าอย่างแรกเราต้องตอบโจทย์มหาวิทยาลัยให้ได้ก่อน เกณฑ์ที่ระบุไว้ งานที่ต้องทำ การตีพิมพ์ จากนั้นก็ขยับขึ้นไปตอบโจทย์สังคมภายนอก แต่เราต้องไม่ลืมว่าคำขวัญใหญ่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือ “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” เราจึงไม่สามารถละเลยเรื่องนี้ได้

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีแนวทางหลายด้านที่พยายามช่วยเหลือเหล่านักวิจัยเพื่อให้สร้างสรรค์งานตีพิมพ์และการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคม มีทุนการวิจัยให้นักวิจัยรุ่นใหม่ซึ่งในบางมหาวิทยาลัยไม่มีเงินงบประมาณให้แบบนี้ ซึ่งนี่เป็นโอกาสดีสำหรับเหล่านักวิจัย นอกจากนี้ยังมีเงินทุนสนับสนุนในการเผยแพร่ผลงานทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ ด้วยสิ่งสนับสนุนเหล่านี้ ผมพูดได้เลยว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยของเราเป็นแนวหน้าของประเทศในการพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ จากที่อดีตเราเป็นผู้ตามในเรื่องนี้มาโดยตลอด ในอีกทางหนึ่งมหาวิทยาลัยก็เปิดโอกาสให้เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัยจากหลากหลายสาขา หลากหลายคณะ ซึ่งนำไปสู่การต่อยอดการวิจัยเชิงบูรณาการแบบสหสาขาวิชา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกระแสทั่วโลก และยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคมตามเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่เน้นการต่อยอดงานวิจัยสู่การพัฒนามากยิ่งขึ้น โครงการ YPIN เองก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเครือข่ายดังกล่าว

อย่าจำกัดตัวเองอยู่เพียงความเชี่ยวชาญ แต่ต้องเปิดรับโอกาส

          ทุกวันนี้ปัญหาใหญ่ของนักวิจัยรุ่นใหม่คือยึดถือความเชี่ยวชาญของตัวเองไว้จนละเลยที่จะไปแสวงหาสิ่งใหม่ อย่าลืมว่าบางครั้งเราเชี่ยวชาญเรื่องนี้มาก แต่พอไปข้างนอกเราอาจไม่มีตัวตนเลยก็ได้ หรือบางทีเราเรียนต่างประเทศ มีเครื่องไม้เครื่องมือครบ กลับมาไทยพบความเป็นจริงอาจไปต่อยาก ฉะนั้นเราต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทของความเป็นจริงด้วย ยกตัวอย่างง่าย ๆ ผมเป็นนักโรคพืชไปทำงานวิจัย เกษตรกรถามถึงปัญหาแมลง จริงอยู่เราไม่มีความรู้เรื่องนี้ แต่ถามว่าเราจะปิดโอกาสตังเองไม่ทำอย่างนั้นหรือ ก็ไม่ใช่ถูกไหมครับ นี่มันทำให้เราต้องขยับตัวเองออกมาจากความเชี่ยวชาญ เราต้องไปหาว่ามันจะมีจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียตัวไหนที่มันต้านแมลงได้ไหม หรือถ้าเราจนมุมแล้วการหาเพื่อนร่วมทีมเพิ่มก็อาจเป็นเรื่องจำเป็นขึ้นมา

          สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การสร้างทีมวิจัยที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายเรื่อง ทุกวันนี้ผมแทบไม่ได้ทำงานคนเดียวแต่ทำงานเป็นทีมมากขึ้น เพราะมันตอบโจทย์ความเป็นจริงได้ครบและรอบด้านกว่ามาก และพอทำเป็นทีมแบบนี้ สิ่งที่ตามมาก็คืองบประมาณในการวิจัยที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย จะเห็นได้ว่าผลประโยชน์ออกมาหลายทางมาก และที่เกิดความคาดคิดคือผมได้เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ จากมุมมองของคนอื่น ๆ เป็นโอกาสดี ๆ ที่คนที่ทำงานด้านเกษตรจากหลากหลายด้านจะได้มาร่วมกันคิดแก้ปัญหา ตอนนี้เราเรียกกลุ่มของเราว่า “กลุ่มอารักขาพืช” ซึ่งไม่ได้ทำเพียงแค่การวิจัย แต่ต่อยอดสู่การพัฒนาการเรียนการสอนในสาขาวิชาด้วย

เคล็ดลับการต่อยอดงานวิจัยสู่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม

          อย่างแรกเลยนักวิจัยโดยเฉพาะรุ่นใหม่ต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองให้มาก ๆ มั่นใจถึงความสามารถที่ตนเองมี เงินทุนงบประมาณไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ควรรับไว้ และบริหารจัดการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นให้อย่างมีประสิทธิภาพ ประมาณการการทำงานวิจัยให้เหมาะสมกับทุนที่ได้รับ ไม่ทำเกินตัว อย่างทุกวันนี้งบตั้งต้นของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มหาวิทยาลัยให้คือ 2 แสนบาท ซึ่งผมมองว่ามากพอสมควรกับการเริ่มทำวิจัย ที่สำคัญเราโชคดีที่มสนามระดับมหาวิทยาลัยให้ได้ฝึกฝีมือในการเขียนรายงานของงบประมาณทำวิจัย ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญมาตรวจให้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อไปในการเขียนของบประมาณจากภายนอก

          อย่างที่สองคือต้องไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค อย่างที่บอกไปหลายคนจบการศึกษาจากต่างประเทศ มีเครื่องมือครบถ้วน กลับมารับสภาพกันไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่เราต้องมุ่งมั่นแก้ไขปัญหากันไป หากยังไม่มีห้องปฏิบัติการของตัวเอง ก็ต้องรู้จักขอยืมใช้จากอาจารย์พี่เลี้ยงหรืออาจารย์ผู้ใหญ่ไปก่อน หรือหาเครือข่ายจากภายนอกในการขอใช้เครื่องมือที่เราจำเป็น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราสร้างเครือข่ายการทำงานของตนเองได้กว้างขวางมากขึ้น และมันจะนำไปสู่การของบประมาณแบบทีมวิจัยที่มีเงินสนับสนุนเพิ่มมากยิ่งขึ้นตามมาด้วย ฉะนั้นต้องไม่ย่อท้อต่อปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรก แต่ต้องต่อสู้กับมันโดยอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ของเพื่อนร่วมงาน หรือนักวิจัยรุ่นพี่

          สุดท้ายต้องมีเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจน ว่าเราต้องการทำงานวิจัยเพื่ออะไร ทำไปแล้วเกิดประโยชน์อะไรบ้าง ไม่ใช่ว่าทำวิจัยแบบไม่มีเป้าหมายอะไรเลย หรือทำวิจัยเพียงเพื่อให้ตอบโจทย์เกณฑ์การประเมินของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ผมอยากให้มองว่าการวิจัยคือส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ของชีวิตเรา และเป็นส่วนสำคัญในการต่อยอดการเรียนการสอนในชั้นเรียน การสอนเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้เกิดความก้าวหน้าได้ แต่การวิจัยจะช่วยให้เราสร้างเป้าหมายในชีวิตชัดเจนขึ้นได้ว่าสุดท้ายแล้ว เราทำทุกอย่างไปเพื่ออะไร