Loading...

จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ พื้นฐานการทำงานวิจัยของสายสังคมศาสตร์

"รู้จักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา"

 

 

          เมื่อพูดถึงการทำวิจัย โดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์ การดำเนินงานวิจัยจำนวนมากมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ บางครั้งการทำวิจัยมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลุ่มคนทางสังคมที่มีความเปราะบาง ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยจึงมีการกำหนดกรอบจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่นักวิจัยในการทำงาน สำหรับปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีหน่วยงานเฉพาะขึ้นดูแลและประเมินโครงการวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับจริยธรรมการวิจัยในมนุษยเพื่ออำนวยความสะดวกการทำงานของนักวิจัย

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา หนึ่งใน YPIN Ambassador ถือเป็นหนึ่งในนักวิจัยรุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวข้องกับประเด็นทางด้านสังคม และผ่านกระบวนการประเมินจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ เลยถือโอกาสให้อาจารย์ได้พูดคุยถึงงานวิจัยของตนเอง และพาเราไปรู้จักการแนวทางการดำเนินงานเพื่อขอรับการประเมินจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอบเขตงานวิจัยที่สนใจและทำไมต้อง “วิจัยแบบหลากหลายมิติ”

          สำหรับตอนนี้งานวิจัยที่ทำอยู่มุ่งเน้นด้านนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสาธารณสุข การปกครองส่วนท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของประชาชน และการบริหารจัดการเมือง แต่ต้องบอกก่อนว่าส่วนตัวจบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านนโยบายสาธารณะ เน้นทางด้านการเงินการคลังสาธารณะ มุมมองการศึกษาวิจัยจึงค่อนข้างมีความหลากหลายมาก และสาขาบริหารรัฐกิจหรือรัฐประศาสนศาสตร์เองก็มีขอบเขตกว้างขวาง ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับนักวิจัยว่าจะเลือกจับเอาประเด็นอะไรมาเป็นจุดสนใจ ซึ่งโดยส่วนตัวเลือกจะเน้นงานที่ระบุไว้ข้างต้น

          งานวิจัยที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ใน Journal of Asian Public Policy ของสำนักงาน Taylor and Francis เป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการควบคุมและป้องกันโรคเบาหวานโดยเปรียบเทียบไทยกับสหรัฐอเมริกา (Exploring the effects of coproduction on citizen trust in government a cross-national comparison of community-based diabetes prevention programmes in Thailand and the United States) คือเน้นตอบคำถามใหญ่สองข้อคือ ข้อแรกลักษณะการทำงานของสองประเทศต่างกันไหม และข้อสองคือประชาชนมีมุมมองต่อการจัดบริการแบบนี้อย่างไรบ้าง คือผลการศึกษาน่าสนใจว่าการเกิดปัญหาของสองประเทศไม่แตกต่างกัน ประเด็นพฤติกรรมการกินเป็นหัวใจสำคัญ สำหรับในส่วนของการมีส่วนร่วมนั้น สามารถมองได้เป็น 3 ขั้นคือ ในขั้นแรกนั้นภาครัฐเน้นการมีส่วนร่วมด้วยการสอนแนวทางการป้องกันตนเองจากโรคเบาหวาน เช่น การออกกำลังกาย การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจ ขั้นที่สองให้อาสาสมัครด้านสุขภาพ และประชาชนร่วมกันคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานในระดับชุมชน ซึ่งเสียงตอบรับส่วนใหญ่ยังเป็นในเชิงบวก แต่ในขั้นที่สาม รัฐพยายามผลักดันให้ประชาชนในระดับพื้นที่ช่วยดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ประสบภาวะเจ็บป่วยแทรกซ้อน คือ ติดเชื้อที่เท้า (Diabetic Foot Ulcer) ช่วยล้างแผล ทัศนคติของประชาชนทั้งในเมืองไทยและสหรัฐอเมริกาต่อการผลักดันบทบาทของประชาชนในขั้นที่ 3 กลับกลายเป็นลบต่อภาครัฐ เนื่องจากประชาชนมองว่าภาครัฐผลักภาระด้านสุขภาพให้ภาคประชาชนมากจนเกินไป งานชิ้นนี้จึงชี้ให้เห็นว่าทุก ๆ การมีส่วนร่วมจะมีจุดอิ่มตัวและก่อให้เกิดความถดถอยของความพึงพอใจในการมีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณะ (Marginal Returns to Public Participation in Public Service Provision) ทำให้เกิดผลสะท้อนกลับเชิงลบต่อภาครัฐ ซึ่งผมคิดว่า เราสามารถนำไปใช้ต่อยอดกับการศึกษาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านอื่น ๆ ได้ เช่น การบริหารจัดการน้ำบาดาล การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น เป็นต้น ซึ่งสำหรับเรื่องการบริหารจัดการน้ำบาดาล โดยส่วนตัวผมกำลังเขียนหนังสือเรื่อง “Groundwater Governance in Southeast Asia” ให้แก่สำนักพิมพ์ Springer และอยู่ในระหว่าง การจัดทำต้นฉบับบทความเรื่อง Social Capital and Teentage Pregnancy in Lesotho ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทั้งเรื่องน้ำบาดาลและการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้น เราสามารถทำวิจัยในเชิงสังคมศาสตร์ได้ และควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ที่ท้าทายและเป็นแนวทางเลือกเชิงนโยบายสาธารณะให้แก่สังคม

การประเมินจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มีระยะเวลา และขั้นตอนอย่างไรบ้าง

          ด้วยงานวิจัยข้างต้นมีความคาบเกี่ยวกับประเด็นทางด้านสาธารณสุข และมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการสอบถามความคิดเห็นของประชาชน งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีความจำเป็นต้องขอประเมินจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของสายวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วย โดยรวมขั้นตอนการทำงานมีความรวดเร็ว ใช้ระยะเวลาเพียง 1 เดือน ก็สำเร็จ และได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากผู้ทรงคุณวุฒิในหลายประเด็น การปรับแก้ไขก็ไม่ได้ยุ่งยากมากนัก

          แต่ระบบการขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ยังคงเป็นการยื่นเอกสารเป็นหลักอยู่ โดยหน่วยงานจะมีแบบฟอร์มสิ่งต่าง ๆ ที่เราต้องนำส่ง ไม่ว่าจะเป็นตัว Proposal งานวิจัย หรือจะเป็นเอกสารแนวทางการศึกษา สิ่งเหล่านี้จะใช้เป็นส่วนประกอบในการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าแนวทางและขั้นตอนการดำเนินงานสามารถพัฒนาได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต หากนำระบบ Online มาใช้ จะช่วยลดปริมาณเอกสารที่ต้องส่งและระยะเวลาในการรับรอง รวมทั้งยังจะช่วยติดตามความคืบหน้าการทำวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในอนาคตการมี Protocol ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นจะช่วยให้นักวิจัยสามารถทำงานได้สะดวกขึ้น ลดภาระการทำความเข้าใจขอบเขตงานวิจัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับประเด็นจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือไม่

          ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีระบบคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ซึ่งเป็นให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวแก่นักวิจัยของมหาวิทยาลัย ถึงแม้ว่าคณะกรรมการเหล่านี้จะจัดตั้งได้ไม่นานนัก แต่ก็สามารถให้คำแนะนำในหลากหลายประเด็นที่นักวิจัยติดขัด ต้องยอมรับว่าคณะทำงานด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำงานด้วยความทุ่มเท เพราะการพิจารณาประเมินและรับรองจริยธรรมการวิจัยในคนไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องทำงานแข่งขันกับระยะเวลาเพื่อไม่ให้เกิดคอขวดในการดำเนินงานวิจัยของผู้วิจัย ถึงแม้ว่าในหลายส่วนการทำงานอยู่ระหว่างการปรับปรุงก็ตาม

สังคมศาสตร์กับการวิจัยในอนาคตเป็นอย่างไร

          ทุกวันนี้งานวิจัยโดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์มีขอบเขตที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ส่วนตัวได้มีโอกาสไปศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นเรื่อง Future Studies หรือ อนาคตศาสตร์ ประเด็นเรื่องนี้มีความน่าสนใจมากว่า เรามาถึงจุดที่ต้องวางกรอบความเป็นไปในอนาคตกันแล้ว แนวทางการศึกษาของศาสตร์นี้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงโดยตรงต่อนักสังคมศาสตร์ เพราะเป็นการมองสถานการณ์ในระดับพื้นที่จากปัจจุบันไปสู่อนาคต ไม่ใช่เป็นการศึกษาแบบมองอดีตมาหาปัจจุบันอีกแล้ว นักสังคมศาสตร์และแนวทางการศึกษาวิจัยในอนาคต จะมุ่งสู่การจินตนาการบนพื้นฐานองค์ความรู้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถออกแบบแนวทางการรับมือความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ได้เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น

          เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาวิจัยของสายสังคมศาสตร์ในระดับที่ผลิกผันและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น การศึกษาผลกระทบต่อสังคมจากเทคโนโลยี 3D Printing และเทคโนโลยี Blockchain เป็นต้น การเรียนการสอนตลอดจนการทำงานวิจัยในอนาคตจึงไม่สามารถจำกัดตัวอยู่ภายใต้กรอบการศึกษาศาสตร์ใด ศาสตร์หนึ่งโดยเฉพาะ แต่ต้องบูรณาการการศึกษาวิจัยร่วมกันมากยิ่งขึ้น วิทยาลัยสหวิทยาการเองก็พยายามส่งเสริมให้เกิดสิ่งเหล่านี้ เรามีคณะนักวิจัยจากหลากหลายศาสตร์ ซึ่งนี่คือการทำงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ และวงการวิชาการแห่งอนาคต

นักวิจัยรุ่นใหม่จะปรับตัวอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน

          สำหรับนักวิจัยสายสังคมศาสตร์ การอ่านถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น การอ่านงานวิจัยจากวารสารต่างประเทศบ่อย ๆ จะช่วยให้เราเข้าใจแนวโน้มการวิจัยของงานทางด้านสังคมศาสตร์มากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคือเราต้องเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ไม่จำกัดตัวเองอยู่เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือยึดติดและตีกรอบการทำงานของตัวเองมากเกินไป เพราะจะส่งผลให้การทำงานไม่มีความหลากหลาย ไม่เกิดการขยายฐานองค์ความรู้ พูดง่าย ๆ ก็คือ เราต้องหาจุดเน้นของตัวเองให้ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถเล่นแร่แปรธาตุได้ด้วยเช่นกัน

          นักวิจัยสายสังคมศาสตร์รุ่นใหม่จึงควรเป็นบุคคลที่อ่านให้มาก เปิดใจให้กว้างเพื่อเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้นต้องมองทุกอย่างเป็นโอกาสมากกว่าที่จะปฏิเสธและมองว่าตัวเองมีข้อจำกัด เพราะงานวิจัยเป็นเครดิตส่วนบุคคลของคณาจารย์ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวบุคคล งานวิจัยจะช่วยเพิ่มคุณค่าและทำให้คณาจารย์เป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคตที่การแข่งขันจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น การทำวิจัยที่ดีคือต้องสนุกไปกับมัน โชคดีที่ปัจจุบันได้ทราบว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนโยบายให้อาจารย์สามารถเลือกจุดเน้นของภาระงานตนเองระหว่างการสอนหรือการวิจัย ซึ่งหากสามารถขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างจริงก็จะเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่

โจทย์ใหญ่ที่นักวิจัยสังคมศาสตร์ต้องร่วมกันแก้ไข

          ในอนาคตที่สังคมจะมีพลวัตรมากยิ่งขึ้น นักวิจัยสังคมศาสตร์ควรหันหน้ามาทำงานร่วมกันมากยิ่งขึ้น และขยายความร่วมมือไปยังสายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อร่วมกันหาคำตอบโจทย์ใหม่ ๆ ของสังคมในปัจจุบันและอนาคต นักวิจัยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการศึกษาและการทำงานของตัวเองแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปของโลก การทำงานแบบแยกศาสตร์ตามสาขาอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

          ปัญหาใหญ่คือเราติดกรอบของสาขาวิชา ซึ่งเป็นการจำกัดตัวเราเอาไว้ไม่ให้สามารถก้าวออกมาจากพื้นที่ที่เราถนัดได้และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งความเป็นจริงได้ เราจำเป็นต้องถอยออกมาจากกรอบนั้นให้ได้ เพื่อให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ ๆ นักวิจัยรุ่นใหม่ต้องรู้จักสร้างเครือข่าย หาความรู้เพิ่มเติมจากหลากหลายศาสตร์ซึ่งมีความเชื่อมโยงระหว่างกัน

          โครงการ YPIN ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่มหาวิทยาลัยพยายามเอื้ออำนวยให้เกิดการสร้างเครือข่ายในหมู่นักวิจัยของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะยังประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาในอนาคต นักวิจัยรุ่นใหม่ต้องท้าทายตัวเอง ฝึกให้ตนเองมี “Can Do” Attitude มากขึ้น กล่าวคือ ต้องเชื่อมั่นในความสามารถของวงการวิชาการและตนเองในฐานะนักวิชาการที่จะตอบโจทย์ความท้าทายที่สลับซับซ้อนของโลกยุคปัจจุบันและอนาคต โดยต้องเปิดใจให้กว้าง มีความยืดหยุ่น มีความเป็นสากล ทำงานได้หลากหลายทักษะ และพยายามเปิดมุมมองโลกทัศน์ของตัวเองอยู่เสมอ คุณสมบัติเหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่นักวิจัยสายสังคมศาสตร์ต้องร่วมกันส่งเสริมให้เกิดขึ้น

          สุดท้ายนี้เป็นที่โชคดีที่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พยายามผลักดันให้เกิดการทำงานวิจัยมากขึ้นในหมู่คณาจารย์ซึ่งผ่านโครงการสนับสนุนมากมาย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการขยายตัวขององค์ความรู้และผลักดันให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้น