Loading...

ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูง อีกหนึ่งส่วนสนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"รู้จักศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูงกับอาจารย์ทันตแพทย์ ดร.ปิยะพงษ์ พรรณพิสุทธิ์"

 

 

          เมื่อพูดถึงการทำวิจัย โดยเฉพาะในสายวิทยาศาสตร์ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้การทำวิจัยประสบผลสำเร็จและได้ผลการทดลองที่แม่นยำคงหนีไม่พ้นการมีเครื่องมือทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพสูง และถูกต้องแม่นยำ สำหรับปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีหน่วยงานสนับสนุนเครื่องมือเครื่องใช้ทางด้านวิทยาศาสตร์ชั้นสูง อย่างศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูง อันเป็นแหล่งรวบรวมเครื่องมือมากมายทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บางเครื่องต้องบอกเลยว่ามีไม่กี่เครื่องในประเทศไทย

          อาจารย์ทันตแพทย์ ดร.ปิยะพงษ์ พรรณพิสุทธิ์ หนึ่งใน YPIN Ambassador ถือเป็นหนึ่งในนักวิจัยรุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้มีโอกาสใช้แหล่งทุน และความสนับสนุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ เลยถือโอกาสให้อาจารย์ได้พูดคุยถึงงานวิจัยของตนเอง และพาเรายังพาไปรู้จักการใช้บริการกองบริหารการวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนเทคนิคและวิธีการทำงานวิจัยเพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาประเทศและส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิต และพาชมศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูงแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอาจารย์ได้มีโอกาสใช้บริการในช่วงที่ต้องทำวิจัย และจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลบางประเภท

ตอนนี้ทำงานวิจัยอะไรอยู่บ้างและทำไมต้อง “วิจัยเพื่อต่อยอด”

          งานวิจัยที่ทำตอนนี้คือการพัฒนาวัสดุทางทันตกรรมที่เป็นนวัตกรรม โดยผลงานชิ้นสำคัญซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยในอดีตตอนที่เรียนอยู่ที่ University College London (UCL) คือการได้มีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาวัสดุอุดฟันชนิดพิเศษที่สามารถซ่อมแซมเนื้อฟันและฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้เพื่อยับยั้งฟันผุซ้ำ ปัจจุบันงานวิจัยชิ้นนี้มีการต่อยอดไปสู่การพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรมในตลาดยุโรป และคาดว่าจะมีการจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ในลำดับถัดไป

          ตอนนี้กำลังเริ่มพัฒนาวัสดุอุดฟันโดยอาศัยวัสดุและสมุนไพรพื้นบ้านในประเทศไทยเป็นสารตั้งต้น เพราะปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าวัสดุอุดฟันทุกชนิดจากต่างประเทศ ความพยายามในการทำวิจัยในครั้งนี้จึงมีเป้าหมายสำคัญเพื่อการผลิตนวัตกรรมทางวัสดุทันตกรรมที่สามารถผลิตได้เองในประเทศไทย ลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้าในประเทศได้หรือส่งเสริมจัดจำหน่ายออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเศรษฐกิจของประเทศ

 

 

แนวโน้มการวิจัยในอนาคตเป็นอย่างไร

          ในปัจจุบันแนวโน้มการวิจัยมุ่งเน้นสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือการวิจัยเชิงประยุกต์ ซึ่งในต่างประเทศมีการเน้นให้ทำงานวิจัยในรูปแบบนี้มานานแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยเรายังทำวิจัยในเชิงองค์ความรู้พื้นฐาน หรือ งานวิจัยที่ต่อยอดสู่การนำไปใช้ได้ยาก ซึ่งเราควรพัฒนางานวิจัยองค์ความรู้พื้นฐานเหล่านี้มาทำงานกับนักวิจัยสายประยุกต์ให้มากยิ่งขึ้น ตัวแบบการทำวิจัยลักษณะนี้จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และช่วยให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยสู่การพัฒนาประเทศได้ ที่สำคัญคือภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าภาคชุมชน หน่วยงานของรัฐหรือภาคอุตสาหกรรมก็ควรมีส่วนร่วมด้วยตั้งแต่เริ่มต้นงานวิจัย เพื่อให้เห็นทิศทางในการต่อยอดสู่การนำไปใช้อย่างชัดเจน

          ในตอนนี้คณะทันตแพทยศาสตร์เองก็มีงานวิจัยที่สามารถพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ได้ แต่ปัญหาสำคัญคือองค์ความรู้ในการต่อยอดยังเป็นข้อจำกัด เราจึงควรจัดการฝึกอบรมหรือดึงภาคอุตสาหกรรมให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพื่อให้คณาจารย์หรือนักวิจัยที่ต้องการต่อยอดผลงานในเชิงพาณิชย์สามารถมองเห็นทิศทางในอนาคตได้ชัดเจนมากขึ้น

มหาวิทยาลัยสนับสนุนการทำวิจัยมากน้อยเพียงใด

          ตัวเองเป็นหนึ่งในนักวิจัยรุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยภาพรวมก็มองว่าแนวทางการสนับสนุนการทำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมีในหลากหลายลักษณะ โดยเฉพาะเรื่องทุนสนับสนุนงานวิจัยนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดสรรทุนให้อย่างหลากหลาย โดยสามารถขอทุนทั้งจากภายในคณะเอง หรือจะขอจากทางมหาวิทยาลัยก็ได้

          สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะบางครั้งอาจารย์ในหลาย ๆ มหาวิทยาลัย ประสบปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนในการทำวิจัย ส่งผลให้การทำวิจัยติดขัด แต่ในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องแหล่งทุนค่อนข้างมีความพร้อม แต่อาจจะต้องเน้นให้มีการส่งเสริม หรือ สนับสนุนอาจารย์หรือนักวิจัยใหม่ ๆ ให้มีศักยภาพในการทำวิจัย โดยรวม ๆ มหาวิทยาลัยก็ยังมีแนวทางการสนับสนุนการทำวิจัยที่ค่อนข้างครบครัน ครบถ้วน และเอื้อให้คณาจารย์สามารถทำงานวิจัยได้อย่างราบรื่น

 

ที่ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูงสนับสนุนการวิจัยและมีขั้นตอนการขอเข้าใช้บริการเป็นอย่างไร

          ส่วนตัวเคยใช้บริการศูนย์นี้ อยากบอกต่อว่าการขอใช้บริการไม่มีความยุ่งยากอย่างที่คิด เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำเป็นอย่างดี เกี่ยวกับเครื่องมือแต่ละชิ้นที่เราต้องการใช้บริการ ที่สำคัญคือเครื่องมือวิทยาศาสตร์หลาย ๆ ชิ้น มีความทันสมัยมาก ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่น ๆ ถือได้ว่ามีการบริการที่ค่อนข้างครบวงจร คือถ้านักวิจัยหรือคณาจารย์ต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องมือ สามารถเข้าไปดูได้ทางเว็บไซด์ http://www.sat.tu.ac.th/tucsear/tucsear_main.php จากนั้นก็ประสานขอข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทางอีเมลย์หรือเบอร์ติดต่อของทางศูนย์ได้เลย

          โดยรวม ๆ นั้น การเข้าถึงศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูงไม่ยุ่งยากเมื่อเปรียบเทียบกับการติดต่อศูนย์ภายนอกที่อาจารย์สายวิทยาศาสตร์มักดำเนินการกัน ที่สำคัญคือศูนย์นี้มีเครื่องมือหลายชิ้นที่ทั้งประเทศไทยมีอยู่ไม่กี่เครื่อง และข้อมูลที่ได้ก็มีความแม่นยำสูงมาก ระยะเวลาในการบริการก็ขึ้นอยู่กับเครื่องมือและผลที่นักวิจัยแต่ละท่านต้องการ ส่วนตัวนั้นได้รับความสะดวกและรวดเร็วมากในการใช้บริการ

          ถือได้ว่าศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูงเป็นอีกหนึ่งการสนับสนุนสำคัญของมหาวิทยาลัยเพื่อเอื้อให้นักวิจัยสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น และค่าบริการสำหรับนักวิจัยและบุคลากรภายในก็ได้รับสิทธิพิเศษกว่าบุคคลภายนอกอีกด้วย

          แต่ปัญหาสำคัญคือบุคลากรและนักวิจัยภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงรู้จักศูนย์นี้ค่อนข้างน้อย ทั้งที่เครื่องมือมีประสิทธิภาพสูงมาก เมื่อเทียบกับศูนย์ภายนอก เอาจริง ๆ ตัวเองก็รู้จักศูนย์นี้ผ่านทางนักวิจัยรุ่นพี่เท่านั้น อยากให้มหาวิทยาลัยประชาสัมพันธ์หรือจัดกิจกรรม open house ของศูนย์ให้มากกว่านี้ และหวังว่าสกู๊ปนี้จะช่วยให้คณาจารย์และนักวิจัยรู้จักศูนย์นี้มากยิ่งขึ้น

 

นักวิจัยรุ่นใหม่ควรมองการทำวิจัยอย่างไร

          สิ่งสำคัญของการนักวิจัยและบุคลากรทางด้านการศึกษาในมหาวิทยาลัยก็คือต้องไม่เห็นว่างานวิจัยไม่ใช่ภาระเพิ่มเติม แต่เป็นสิ่งที่เราในฐานะครูต้องทำเพื่อสร้างองค์ความรู้ หรือต่อยอดองค์ความรู้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังสามารถนำมาถ่ายทอดให้สังคมได้รับทราบ และยังปรับใช้ในการเรียนการสอนให้มีความเป็นปัจจุบันอยู่เสมอได้อีกด้วย กระบวนการทำวิจัยเองก็ช่วยพัฒนาศักยภาพของตัวเราเองตลอดเวลา

          สิ่งสำคัญของนักวิจัยอีกเรื่องก็คือการคิดออกนอกกรอบที่ครอบเราไว้ เราต้องกล้าที่จะคิดไกลกว่าเรื่องที่มีอยู่หรือเรื่องที่เราถูกวางกรอบไว้ ไม่เช่นนั้นงานวิจัยของประเทศไทยก็จะอยู่กับที่ หรือตามหลังผู้อื่นอยู่เสมอ แนวคิดใหม่ๆ มีอยู่รอบ ๆ ตัวเราตลอดเวลา อยู่ที่ว่านักวิจัยจะเปิดใจมองให้กว้างและหยิบจับมันมาใช้ได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง ซึ่งทักษะดังกล่าวเหล่านี้อาจฟังดูยากแต่เป็นสิ่งสามารถฝึกฝนและพัฒนาได้อย่างแน่นอน

 

อะไรคืออุปสรรคที่นักวิจัยควรก้าวข้าม

          สิ่งที่นักวิจัยควรก้าวข้าม โดยเฉพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ ก็คือต้องกล้าที่จะแสดงความคิดสร้างสรรค์และไม่กดดันตัวเองมากเกินไป ควรทำตัวเองให้รู้สึกสนุกกับการทำวิจัย ไม่ใช่การบังคับตัวเองให้ต้องทำวิจัย การทำวิจัยที่ดี ผู้วิจัยต้องสนุกกับมัน ต้องตื่นตัวและตื่นเต้นกับมัน ความรู้สึกเหล่านี้จะทำให้ผู้วิจัยไม่รู้สึกกดดัน หรือ เครียด ช่วยให้สามารถมองกระบวนการและผลงานได้อย่างเป็นองค์รวม มองหาจุดเด่นและประโยชน์ที่จะนำไปปรับใช้ต่อส่วนรวมได้ชัดเจน

          การเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานก็อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้การทำงานวิจัยมีความคืบหน้ามากขึ้น นักวิจัยไม่ควรเอาแต่นั่งทำงานอยู่ในห้องทำงาน หรืออยู่แต่ในห้องปฏิบัติการ แต่ควรออกไปสถานที่ใหม่ ๆ มากขึ้น ออกไปคุยกับคนในสาขาอื่นๆ หรือ ในภาคส่วนอื่นๆ ให้มากขึ้นเพื่อช่วยในการเปิดมุมมองของเรา ยิ่งไปกว่านั้นคือการแสวงหาเพื่อนร่วมงานใหม่ ๆ จากต่างสาขาวิชาชีพ เพราะมันจะช่วยให้งานของเรามีความหลากหลายและเกิดการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีพื้นที่สำหรับ co-working space ใหม่ ๆ และกิจกรรมต่าง ๆ จากมหาวิทยาลัย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การทำวิจัยที่สร้างสรรค์

          อย่างโครงการ YPIN ก็ถือเป็นเรื่องดี ๆ ที่มหาวิทยาลัยพยายามจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เหล่านักวิจัยและบุคลากรทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยน พูดคุยกัน มันทำให้องค์ความรู้เราขยายตัวมากยิ่งขึ้น การสร้างงานวิจัยที่ดีนอกจากจะต้องมองหาสิ่งที่แตกต่างแล้ว ต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม สามารถต่อยอดได้ และมีการคาบเกี่ยวระหว่างสาขาที่มากยิ่งขึ้นด้วย