Loading...

รู้จัก YPIN Ambassador รุ่นที่ 1

"เปิดตัว YPIN Ambassador รุ่นที่ 1 ผู้ร่วมผลักดันโครงการปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การปฏิบัติ"

 

 

          โครงการปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมถือเป็นหนึ่งในโครงการใหม่ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งหวังผลักดันให้นักวิชาการ นักวิจัยและบุคลากรของมหาวิทยาลัยหันมาให้ความสนใจกับการตีพิมพ์ผลงานและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบสนองสังคมมากยิ่งขึ้น ผ่านกิจกรรมการอบรม การให้ทุนสนับสนุนใหม่ ๆ ตลอดจนการให้คำปรึกษา ทั้งนี้เพื่อสร้างความรับรู้และกระจายข้อมูลอันทั่วถึงมากขึ้น กองบริหารการวิจัยจึงได้คัดเลือก YPIN Ambassador ขึ้นมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวแทนและภาพลักษณ์หลักของโครงการ ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่น่าสนใจต่าง ๆ การนำเสนอแหล่งข้อมูล การสนับสนุนและเงินทุนทางด้านการวิจัยที่น่าสนใจ การตีพิมพ์ผลงาน ตลอดจนการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศในอนาคต

          YPIN Ambassador ยังถือเป็นกลไกสำคัญของโครงการแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมในการกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางด้านวิชาการระหว่างสาขาวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น ในส่วนของฉบับนี้นั้นเราจะพาทุกคนไปรู้จัก YPIN Ambassador ทั้ง 6 คน ในบางส่วนบางมุมสั้น ๆ แต่สำหรับในฉบับต่อ ๆ ไป จะพาไปล้วงลึก ประวัติและกิจกรรมทางการวิจัย ตลอดจนพาทุกคนไปเรียนรู้การใช้บริการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยมากยิ่งขึ้น

 

 

อาจารย์ ดร.ศศินันท์ เครือชัยพินิต

 

          ขอเปิดด้วยหญิงเก่งเพียงคนเดียวของ YPIN Ambassador รุ่นที่ 1 อย่างอ.ดร.ศศินันท์ เครือชัยพินิต อาจารย์ประจำโครงการวิเทศคดีศึกษา (อาเซียน-จีน) คณะศิลปศาสตร์ ผู้มีความสนใจประเด็นด้านจีนศึกษาโดยเฉพาะมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง งานของอาจารย์ศศินันท์เน้นศึกษาโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยมีมุมมองทางด้านการเมืองเข้ามาผสมผสาน ตามสไตล์การวิจัยรุ่นใหม่ที่มุ่งการศึกษาแบบข้ามศาสตร์มากยิ่งขึ้น

          นอกจากประเด็นเรื่องจีนที่อาจารย์ศศินันท์มีความเชี่ยวชาญเฉพาะนับตั้งแต่จบการศึกษาปริญญาเอกแล้ว ปัจจุบันอาจารย์กำลังศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเทศพม่า โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต้องแรงงาน แน่นอนว่าเรื่องนี้มีผลกับโครงสร้างแรงงานข้ามชาติในไทยเช่นเดียวกัน นี่จึงถือเป็นชิ้นงานวิจัยสำคัญที่อาจารย์กำลังทำอยู่และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้

          ใน YPIN Ambassador รุ่นที่ 1 อาจารย์ศศินันท์คิดเห็นว่าโครงการ YPIN ถือเป็นหนึ่งในโครงการนำล่องด้านการส่งเสริมการผลิตงานวิจัยและการตีพิมพ์ผลงานที่น่าสนใจ เพราะช่วยกระตุ้นให้นักวิจัย ผลิตผลงานมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็มีการสนับสนุนในหลายด้านมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อดีกับหลากหลายฝ่ายทั้งตัวผู้วิจัย สถาบัน และประเทศชาติ

 

อาจารย์ ดุลยภาพ จาตุรงคกุล

 

          ถัดมาอีกหนึ่งตัวแทนจากสายสังคมศาสตร์อย่าง อ.ดุลยภาพ จาตุรงคกุล อาจารย์ประจำสาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ผู้มีความสนใจเฉพาะเกี่ยวกับปรัชญาทางการเมือง และทฤษฎีความคิดทางการเมือง งานศึกษาวิจัยในอดีตของอาจารย์ดุลยภาพ มุ่งเน้นการศึกษาการถกเถียงกันของแนวคิด ทฤษฎีทางปรัชญาเป็นสำคัญ และมุ่งเน้นศึกษาพัฒนาการของแนวคิดทางการเมือง

          สำหรับปัจจุบันอาจารย์ดุลยภาพกำลังสนใจทำงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาข้อถกเถียงเกี่ยวปรัชญาต่อความเป็นไปของการเมืองไทย มุ่งเน้นการประยุกต์แนวคิดและทฤษฎีทางปรัชญา สู่การอธิบายปัญหา และแสวงหาทางออกใหม่ ๆ เป็นความพยายามดึงงานแบบ Pure Theory มาสู่การประยุกต์ใช้มากยิ่งขึ้น

          อาจารย์ดุลยภาพให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการ YPIN ไว้อย่างน่าวนใจว่านี่ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะเกิดการปลุกกระแสความตื่นตัวในการศึกษาวิจัยมากยิ่งขึ้น และถือเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ผลลัพธ์ของโครงการยังไม่อาจพูดได้ แต่วันนี้ YPIN ได้จุดประกายให้กับนักวิจัยจำนวนมากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ผศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา

 

          อีกหนึ่ง YPIN Ambassador ที่น่าสนใจไม่น้อยเลย คือ ผศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา อาจารย์ประจำคณะสหวิทยาการ ผู้ซึ่งทำงานวิชาการและงานวิจัยกึ่งกลางระหว่างสายสังคมศาสตร์และสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ อาจารย์เป็นภาพสะท้อนว่าวงวิชาการสมัยใหม่นั้นไร้พรมแดน ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนมากนัก เพราะผลงานวิชาการในอดีตของอาจารย์ล้วนทำเรื่องเกี่ยวกับประเด็นนโยบายสาธารณสุขต่าง ๆ

          ในขณะที่ปัจจุบันความสนใจของอาจารย์ก็ยังเน้นนโยบายด้านการสาธารณสุขเป็นสำคัญ เพิ่มเติมด้วยประเด็นการบริหารจัดการองค์การภาครัฐ และการขับเคลื่อนนโยบาย งานใหม่ ๆ ของอาจารย์จึงเป็นการศึกษาที่นำไปใช้ได้จริงมากยิ่งขึ้น ตอบโจทย์การพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 และวางบทฐานการศึกษาแบบเปิดกว้างไร้พรมแดน

          อาจารย์ธัชเฉลิม ให้มุมมองต่อโครงการ YPIN ว่าโดยปกติการตีพิมพ์ผลงานเผยแพร่สู่สาธารณะถือเป็นสิ่งที่อาจารย์และนักวิจัยควรกระทำอยู่แล้ว การผลักดันโครงการนี้ขึ้นมาจะช่วยเสริมศักยภาพให้กับมหาวิทยาลัยอย่างมากในการส่งต่อองค์ความรู้สู่สังคมอย่างเป็นรูปธรรม เพราะถือเป็นจุดแข็งของธรรมศาสตร์มาโดยตลอด

 

อาจารย์ทันตแพทย์ ดร.ปิยะพงษ์ พรรณพิสุทธิ์

 

          ฉีกมาที่สายวิทยาศาสตร์สุขภาพกันบ้าง อาจารย์ทันตแพทย์ ดร.ปิยะพงษ์ พรรณพิสุทธิ์ ถือเป็นอีกหนึ่ง YPIN Ambassador รุ่นแรก ที่จะส่งสารโครงการ YPIN สู่ประชาคมธรรมศาสตร์มากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันอาจารย์สอนอยู่ คณะทันตแพทยศาสตร์ โดยงานศึกษาในอดีตของอาจารย์นั้นเน้นการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมทางด้านทันตกรรม โดยเฉพาะวัสดุชนิดใหม่ที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นในการอุดฟัน

          สำหรับปัจจุบันอาจารย์ปิยะพงษ์ มีความมุ่งหวังที่จะนำเอาองค์ความรู้และความสนใจด้านการพัฒนาวัสดุด้านทันตกรรมมาต่อยอดในการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแหล่งผลิตวัสดุอุดฟันภายในประเทศ ส่งผลให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก งานวิจัยชิ้นใหม่ของอาจารย์จึงตอบโจทย์ทางด้านวิชาการและการพัฒนาประเทศ

          อาจารย์ปิยะพงษ์ มองว่าโครงการ YPIN ถือเป็นสิ่งจำเป็นและสอดรับกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งกำลังเน้นการศึกษาวิจัยเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น อันถือเป็นการสร้างคุณค่าทางการศึกษา และเป็นการดึงดูดการลงทุนจากภายนอกให้ไหลสู่การศึกษาวิจัยของสถาบันการศึกษามากยิ่งขึ้น

 

ผศ. ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์

 

          ถัดมาที่อีกหนึ่ง YPIN Ambassador จากสายวิทยาศาสตร์ อย่างผศ. ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้มีความสนใจศึกษาและทำงานวิจัยทางด้านการอารักขาพืช และการพยากรณ์โรคพืชในภาคเกษตรซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย

          สำหรับงานวิจัยปัจจุบันของอาจารย์มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคมมากยิ่งขึ้น เน้นการใช้นวัตกรรมแอพลิเคชั่น ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถรับรู้ความเสี่ยงของโรคพืชที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงกรรมวิธีต่าง ๆ ในการอารักขาและบำรุงพืช นอกจากนี้ยังการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย

          อาจารย์ให้มุมต่อโครงการ YPIN ว่าเป็นโครงการที่ดี เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักวิจัยที่ทำงานด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ให้เป็นที่รู้จัก ทั้งยังจะเป็นพื้นที่สำคัญให้งานวิจัยสามารถขยายต่อไปยังภาคส่วนอื่น ๆ สังคม ไม่หยุดเพียงในรูปเล่ม แต่พัฒนาเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงมากยิ่งขึ้น เป็นช่องทางการสื่อสารการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัย กับภายนอก

 

อาจารย์.ดร. ณัฐดนย์ พรรณุเจริญวงษ์

 

          ขอปิดท้าย YPIN Ambassador รุ่นแรก อย่างอ.ดร. ณัฐดนย์ พรรณุเจริญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเน้นการศึกษาวิจัยและแก้ไขปัญหางานทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล ผ่านการจำลองปัญหาด้วยโปรแกรม Ansys Fluent นอกจากนี้ยังเน้นนำเอาองค์ความรู้ไปต่อยอดพัฒนาสังคม จะเน้นแก้ไขปัญหาจริงในทุกอุตสาหกรรม โดยจะคำนึงถึงหลักของการจัดการและอนุรักษ์พลังงานให้กับโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหัวใจหลัก

          สำหรับปัจจุบันอาจารย์ยังคงมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยทางด้านเครื่องกลและการแก้ไขปัญหาชุมชนอย่างต่อเนื่องจากแนวทางการศึกษาในอดีตโดยขยายความร่วมมือไปยังภาคส่วนอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น ทั้ง ปตท. กฟผ. กระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สปป.ลาว เป็นต้น

          ด้วยความที่อาจารย์เป็นคนรักการทำวิจัย และมองการทำวิจัยเหมือนการปรุงรสชาติอาหาร พอมีโครงการ YPIN อาจารย์จึงตัดสินใจเข้าร่วมไม่ยากนัก เพระถือเป็นการพบปะกับนักวิจัยหลากหลายแขนง ได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิจัยด้วยกัน Share ประสบการณ์การตีพิมพ์และกิจกรรมอื่น ๆ มากมายระหว่างนักวิจัยด้วยกัน นี่ถือเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ในวงวิจัยไทย ต้องยอมรับถึงวิสัยทัศน์ของท่านอธิการบดีที่มองเห็นคุณประโยชน์สำคัญของการสร้างชุมชนนักวิจัยในมหาวิทยาลัย

          นี่ก็คือ YPIN Ambassador รุ่นแรกของ โครงการปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะพานักวิจัยทุกท่านมารู้จักโครงการนี้ให้มากยิ่งขึ้น และจะเป็นอีกช่องทางสื่อสารสำคัญในการประชาสัมพันธ์กิจกรรม ทุนการวิจัย การฝึกอบรม และการขอรับทุนในลักษณะต่าง ๆ เพื่อตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่สาธารณะ เพื่อส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับภูมิภาคและสากลในอนาคต