Loading...

ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ชื่อมหาวิทยาลัยแรกเริ่ม คือ “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” (มธก.) จากแนวคิดของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่เน้นการเรียนการสอนเรื่องประชาธิปไตย เพื่อให้การศึกษา และสร้างความเข้าใจในระบอบการปกครองใหม่ที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นก่อนหน้านี้เพียง 2 ปีแก่พลเมืองจำนวนมากผู้อยู่ในภาวะกระหายใคร่รู้

ดั่งปรัชญาของการตั้งมหาวิทยาลัย  ที่ปรากฏตามสุนทรพจน์  ของศาสตราจารย์   ดร.ปรีดี   พนมยงค์ ที่รายงานต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้

“...มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา...”

          ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจึงมีลักษณะเป็นตลาดวิชา โดยเปิดกว้างแก่ผู้สำเร็จประโยคมัธยมศึกษาและผู้ที่ทำงานแล้วเข้าเรียนโดยไม่มีการสอบเข้า เก็บค่าเล่าเรียนในอัตราต่ำ จัดพิมพ์คำสอนจำหน่ายในราคาถูก ไม่บังคับให้นักศึกษาต้องมาฟังคำบรรยาย เพียงแต่มาสอบตามกำหนดเวลา นับเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศไทย ปรากฏว่า ในปีแรกมีผู้สมัครเข้าศึกษาถึง 7,094 คน ส่วนใหญ่ประกอบด้วยบุตรชายหญิงจากชนชั้นที่ไม่ได้ร่ำรวย รวมทั้งชนชั้นกลางที่มีความหลากหลายทางอาชีพ วิชาที่เปิดสอนมี 2 แขนงคือ หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตและวิชาการบัญชี

          จากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบอย่างมาก ผู้ประศาสน์การ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ชื่อมหาวิทยาลัยถูกตัดคำว่า “การเมือง” ออก เปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” หลักสูตรการศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิตเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นการจัดการเรียนการสอนแยกออกเป็น 4 คณะ คือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี ความเป็นตลาดวิชาหมดไป ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2495 แต่ละคณะมีปริญญาบัตรในชั้นปริญญาตรีตามสาขาของตนเอง ไม่เป็นปริญญาบัตรกลางชื่อ “ธรรมศาสตร์บัณฑิต” อีกต่อไป

          ช่วงปี 2516 ถือเป็นยุคสมัยแห่งการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองไทย ซึ่งก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจนหลังเหตุการณ์วันวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ในขณะนั้นศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากเหตุการณ์วันวิปโยคปะทุขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศในยามคับขัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางการเมืองไทยยุคใหม่ในเวลาต่อมา

          ในปี 2518 ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี ท่านเห็นว่าควรที่จะขยายการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ในชั้นปริญญาตรีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคม เช่นเดียวกับหลักสูตรทางสังคมศาสตร์ที่มีอยู่เดิม พื้นที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ซึ่งมีเนื้อที่อยู่ประมาณ 49 ไร่ ไม่เพียงพอต่อการขยายตัวทางวิชาการและการพัฒนา มหาวิทยาลัยจึงเจรจาขอใช้ที่ดินนิคมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เนื้อที่ประมาณ 2,430 ไร่ ที่รังสิต เพื่อสนองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงขยายออกไปที่รังสิต เรียกว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งพัฒนาเจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน

          ในปี 2537 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้พิจารณาว่า มีความเหมาะสมที่จะนำพื้นที่บริเวณริมถนนสายชลบุรี-ระยอง ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีมาใช้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนาในด้านเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาอุตสาหกรรม เนื่องจากการวิจัยและพัฒนาที่จะได้ผลนั้น จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับการปฏิบัติการจริงอย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรม ทางบริเวณจังหวัดชลบุรีมีความเหมาะสมเนื่องจากเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมจำนวนมาก

          เมื่อมหาวิทยาลัยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการสำนักงานอธิการบดี ตามมติสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2547 จึงให้มีการจัดตั้งงานบริหารศูนย์พัทยา สำนักงานประสานศูนย์การศึกษาภูมิภาคขึ้น การก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา นับเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ทางภูมิภาคตะวันออก สามารถสนองตอบความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง โดยปัจจุบันมีการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์  2 หลักสูตร คือ สาขาวิศวกรรมยานยนต์ และสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์  อีกทั้งยังมีนโยบายให้ มธ. ศูนย์พัทยา เป็น “Green Campus” โดยมหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าวจึงมุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability)

          เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้แก่เยาวชนทางภาคเหนือและภูมิภาคใกล้เคียงได้มีโอกาสเข้าศึกษาในระดับปริญญาบัณฑิต ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็ง ความมั่นคงทางวิชาการสู่ภูมิภาค รวมทั้งดำเนินการวิจัย พัฒนาการฝึกอบรม การถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ แก่ชุมชน และเพื่อให้นักเรียนในท้องถิ่นไม่ต้องเดินทางไปศึกษาไกลจากภูมิลำเนา สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้มีมติให้ดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางขึ้น ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2539 และได้เปิดการเรียนการสอนครั้งแรกในปีการศึกษา 2541 คือ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และขยายการเรียนการสอนสู่คณะสาขาวิชาอื่นๆ และระดับปริญญาโท ปัจจุบันมีคณะที่เปิดการเรียนการสอนที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ทั้งหมด 6 คณะ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในมาตรฐานที่ทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร

          ในปี 2554 เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จึงได้จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มีประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบศูนย์รังสิต รวมถึงจากจังหวัดใกล้เคียงที่เดือดร้อนมาพักพิงถึง 7,000 คน ตลอดระยะเวลาเปิดศูนย์มีอาสาสมัครที่มาร่วมแรงร่วมใจในครั้งนี้กว่า 8,000 คน และยังได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร ข้าวของเครื่องใช้จำเป็น และถุงยังชีพแก่ประชาชนในจังหวัดปทุมธานีและใกล้เคียงอีกนับหมื่นราย จากเหตุการณ์ภัยพิบัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการสืบสานปณิธานและปรัชญาดั้งเดิมของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการสร้างบัณฑิตที่มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม และรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องยุติธรรม

          ในสายธารแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนด้วยวิธีการแบบ Active Learning เพื่อให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ ด้วยวิชาความรู้ที่ครบถ้วนทั้งด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งก้าวสู่ความเป็นสากลด้วยการเปิดหลักสูตรนานาชาติ วิทยาลัยนานาชาติหลากหลายสาขา เพื่อพร้อมรับกระแสความเปลี่ยนแปลงและความเติบโตของสังคมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ หรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีความพร้อมที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความก้าวหน้าทันสมัย มีความโดดเด่นด้านการวิจัย สามารถสร้างองค์ความรู้ที่จะเป็นเครื่องมือในการช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่ประเทศชาติ รวมทั้งปัญหาของโลกในยุคใหม่โดยรวมด้วย

          ในปีพ.ศ.2560 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับทิศทางการพัฒนาของประเทศด้วยแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 12 ที่กำหนดเป้าหมายสู่การเป็น ‘มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้นำ’ ด้วย 5 ยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยในปี 2560 – 2564 อันได้แก่

          1) การสร้างบัณฑิตที่มีคุณลักษณะ GREATS มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และทักษะทางภาษาอย่างน้อย 3 ภาษา 

          2) การสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมเชิงพัฒนาต่อสังคมและโลก

          3) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกประเทศ

          4) การมุ่งเน้นคุณภาพการให้บริการวิชาการและบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานสากล 

          5) การมุ่งสู่ความมั่นคงและยั่งยืนด้วยการบริหารจัดการที่ทันสมัย ด้วยการบริหารสมัยใหม่นี้จะทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้นำที่ได้มาตรฐานระดับสากล

          เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก้าวเข้าสู่ปีที่ 84 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงจะไม่ได้เป็นเพียงสถานศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต สร้างงานงานวิจัยและงานวิชาการเท่านั้น  แต่ยังจะดำเนินการให้เป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้นำรุ่นใหม่เพื่อสังคมไทยและนานาชาติ” (Grooming Next-Generation Leaders for Thailand and International Communities) เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เป็นที่รู้จักของประชมคมนานาชาติ 

          วันเวลาผ่านไป ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยืนหยัดเคียงคู่สังคมไทยมาครบ 84 ปีแห่งการสถาปนา ทั้งยังคงยืนยันเจตนารมณ์ในการผลิต “เมล็ดพันธุ์คนธรรมศาสตร์” กอปรด้วยความรู้ความสามารถและจิตวิญญาณแห่งการรับใช้สังคม เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมโลกอย่างเต็มภาคภูมิ โดยการปลูกฝังความเป็นธรรมศาสตร์ให้เป็นผู้มีจิตสาธารณะและความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะชาวธรรมศาสตร์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นศิษย์เก่าหรือ ศิษย์ปัจจุบัน  ต่างภาคภูมิใจที่ได้กล่าวว่า  “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์ สอนให้ฉันรักประชาชน”

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

           ตราธรรมจักร  เป็นรูปธรรมจักรสีเหลืองทอง ตัดเส้นด้วยสีแดง ทั้งหมด ๑๒ แฉก โดยมีพานรัฐธรรมนูญสีแดงสลับเหลืองอยู่กึ่งกลาง ที่ขอบธรรมจักรมีอักษรสีแดงจารึก "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" หรือ "ม.ธ." อยู่ทางด้านบน กับ "THAMMASAT UNIVERSITY" หรือ "T.U." อยู่ทางด้านล่าง และระหว่างทั้งสองคำจะมีลายกนกสีแดงคั่นอยู่

“ตราธรรมจักร" หมายถึง สถาบันแห่งนี้ยึดถือคติธรรมของพุทธศาสนาเป็นหลักกล่อมเกลาบัณฑิต กึ่งกลางธรรมจักร คือ พานรัฐธรรมนูญ หมายถึง การยึดมั่น เชิดชูรัฐธรรมนูญ เป็นหลักการที่ทางมหาวิทยาลัยยึดถือ และประพฤติปฏิบัติเสมอมา

          สีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีเหลือง-แดง การเลือกสีเหลืองกับแดงนี้ ไม่มีหลักฐานเด่นชัด เพียงแต่ทราบว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เลือก ซึ่งอาจมาจากความต้องการเอาสีเหลือง ซึ่งเป็นสีของศาสนาเหมือนดังธรรมจักร กับสีแดง ซึ่งแสดงความเข้มข้นคือ เลือด ดังปรากฏในเพลงของขุนวิจิตรมาตราว่า "เหลืองของเราคือธรรมประจำจิต แดงของเรา คือโลหิตอุทิศให้" 

          ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ต้นหางนกยูง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๖ และทรงปลูกต้น "หางนกยูง" จำนวนห้าต้น บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่เพื่อให้เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ตามที่นักศึกษาขอพระราชทาน ซึ่งผู้ขอคือ นายวิทยา สุขดำรง ด้วยสีของดอกหางนกยูงนั้น มีความ สอดคล้องกับสีประจำมหาวิทยาลัยแต่เดิม คือสี เหลือง – แดง นั่นเอง

สถานที่สำคัญ

          ตึกโดม เป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ออกแบบโดย จิตรเสน (หมิว) อภัยวงศ์ ตาม คำแนะนำของบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัย ปรับปรุงจากตึกเก่า ๔ หลังของกองพันทหารราบที่ ๔ เชื่อมต่อแต่ละตึกเข้าเป็นอาคารหลังเดียวกัน ส่วนกลางของตึกได้สร้างอาคาร ๓ ชั้นขึ้นเพิ่มเติมโดยมี “โดม” เป็นสัญลักษณ์ตรงกลาง รูปแบบของโดมอธิบายกันในภายหลังว่า นำรูปแบบมาจากดินสอแปดเหลี่ยมที่เหลาปลายจนแหลม เพื่อแสดงถึงภูมิปัญญาที่สูงส่งของการจัดการศึกษา ตามแนวคิดของศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์

ภายในอาคารโดม เมื่อเดินจากบันไดกลางขึ้นไปบนชั้น ๒ ห้องแรกจะเป็นห้องทำงานของบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัย นั่นคือ ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ นั่นเอง ซึ่งห้องเดียวกันนี้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นศูนย์บัญชาการขบวนการเสรีไทยที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำ โดยทำงาน ร่วมกับคณะเสรีไทยสายอังกฤษและสายสหรัฐอเมริกา 

กล่าวได้ว่า ตึกโดมได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของมหาวิทยาลัย ดังเช่นที่นักศึกษาของ มหาวิทยาลัยแห่งนี้นิยมเรียกตนเองว่า “ลูกแม่โดม” ตลอดมา ซึ่งลูกแม่โดมคนหนึ่งที่ชื่อว่า เปลื้อง วรรณศรี ได้ประพันธ์บทกวี “โดม…ผู้พิทักษ์ธรรม” ไว้ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า

ถ้าขาดโดม...เจ้าพระยา...ท่าพระจันทร์ ก็ขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม 

          หอประชุมใหญ่ ถูกนำมาใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของทางมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการไหว้ครู การพระราชทานปริญญาบัตร รวมทั้งยังใช้เป็นห้องเรียนในวิชาพื้นฐาน สำหรับวิชาที่มีนักศึกษาระดับพันคนขึ้นไป และที่สำคัญก็คือ การจัดกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงหลัง เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ หอประชุมใหญ่กลายเป็นสถานที่แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ สภาพการเมืองและสังคมที่เป็นอยู่ ผ่านการอภิปรายและการจัดนิทรรศการต่าง ๆ ซึ่งจัดขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ หอประชุมใหญ่ยังเป็นเสมือนด่านหน้าในการป้องกันการโจมตีจากกลุ่มอันธพาลการเมือง และการล้อมปราบนิสิตนักศึกษาและประชาชน ในเหตุการณ์วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ อีกด้วย

          ลานปรีดี และอนสุรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ก่อสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษ อาวุโสผู้นำขนวนการเสรีไทย และบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ที่ประเทศฝรั่งเศส  

นายปรีดี พนมยงค์ เป็นบุตรชาวนา เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ที่จังหวัดอยุธยา สำเร็จการศึกษา จากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และได้รับทุนไปศึกษาต่อจนสำเร็จ การศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตของรัฐในสาขาวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีส รวมทั้งได้รับประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางเศรษฐกิจอีกด้วย 

ท่านมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น ระบอบประชาธิปไตย ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยมีฐานะเป็นผู้นำสายพลเรือนของ คณะราษฎร มีบทบาทสำคัญในหลาย ๆ ด้านในช่วงรอยต่อของระบอบเก่ากับระบอบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อร่างสร้างระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย การสถาปนาระบบรัฐสภา การแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับต่างประเทศ รวมทั้งการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ให้เป็นมหาวิทยาลัยเปิดเพื่อบ่มเพาะความรู้ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนผู้กระหายความรู้ทางการเมืองแบบใหม่ 

นายปรีดี พนมยงค์ มีบทบาทอย่างสูงเด่นในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเป็นผู้นำจัดตั้ง ขบวนการเสรีไทย ต่อต้านการร่วมทำสงครามกับกองทัพของประเทศญี่ปุ่น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านได้รับตำแหน่งเป็น “รัฐบุรุษอาวุโส” รวมทั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลันในวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ และเหตุการณ์สืบเนื่อง ส่งผลให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางลี้ภัยไปประเทศจีน และต่อมาได้พำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส นับเวลาที่พำนักอยู่ในต่างประเทศรวม ๓๖ ปี ตราบจนถึงแก่อสัญกรรม 

          ลานโพธิ์ สัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของธรรมศาสตร์และสังคมไทย นับตั้งแต่ เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ที่ขบวนการนิสิตนักศึกษาประชาชนร่วมกันต่อสู้เพื่อเรียกร้อง รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย 

เช้าตรู่วันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ลานโพธิ์ เป็นสถานที่เริ่มต้นของการชุมนุมเคลื่อนไหวของนักศึกษา เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวกลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ๑๓ คนซึ่งถูกรัฐบาลจับกุม ต่อมามีผู้เข้าร่วมสนับสนุนการชุมนุมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มีจำนวนนับหมื่นคน จนต้องย้ายไปชุมนุมที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ จำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนหลายแสนคน ก่อนเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลาเที่ยงตรงของวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ และกลายเป็นเหตุการณ์ วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ 

ลานโพธิ์ยังเป็นสถานที่แสดงละครล้อการเมืองของนักศึกษาในวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ภาพ การเล่นละครล้อในครั้งนั้น กลายเป็นภาพข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ขณะที่สถานีวิทยุยานเกราะและวิทยุในเครือ เริ่มประโคมข่าวว่านักศึกษาแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จนกระทั่งมีการชุมนุมของลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มพลังต่าง ๆ นำมาสู่การใช้ความรุนแรง ล้อมปราบสังหารนักศึกษา ประชาชน ในเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ 

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ลานโพธิ์ ได้กลับมามีบทบาทอีกครั้งเมื่อคณะผู้นำกองทัพได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง และร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่สืบทอดอำนาจให้กับตนเอง ในครานั้น นักศึกษาและประชาชนได้ใช้ลานโพธิ์เป็นสถานที่ชุมนุมคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ลานโพธิ์เป็นฐานที่มั่นในการเรียกร้องประชาธิปไตยจึงได้กลับคืนฟื้นชีวิตอีกครั้ง และหลังการเลือกตั้งในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ลานโพธิ์ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ชุมนุมคัดค้านการสืบทอดอำนาจของผู้นำกองทัพจน กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ยุติบทบาทของกองทัพในการเมืองไทยในที่สุด

การชุมนุมของนักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชนในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากระบอบเผด็จการทหารเป็นระบอบประชาธิปไตย และเป็นจุดเริ่มต้นของการตระหนักในสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นยุคที่สังคมและเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบเศรษฐกิจเสรี มีการจัดตั้งพรรคการเมืองสมัยใหม่ มีแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเอง และมีการกำเนิดขึ้นของเพลงเพื่อชีวิต 

การเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖  มีผลทำให้วีรชนเสียชีวิต ๗๗ คน และบาดเจ็บ ๘๕๗ คน เหตุการณ์ครั้งนั้น ได้ก่อเกิดจิตวิญญาณและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยขึ้นใน สังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง จนกระทั่งกลายข้อเท็จจริงที่ยอมรับกันว่า พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ของไทยเป็นผลพวงมาจากการต่อสู้ทางการเมืองของวีรชนเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖  หากตำนานและเรื่องบอกเล่าทางการเมืองสมัยใหม่ของไทยมิอาจตัดขาดจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการประชาธิปไตยของไทยทั้งหมด ก็ไม่สามารถละเลยที่จะกล่าวถึงการชุมนุมที่เป็นประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ณ บริเวณนี้ได้เลย 

          กำแพงวังหน้า ตำแหน่งพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หากจะกล่าวเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว วังหน้าเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อมีการสร้างพระราชวังหลวงในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้ทรงสร้างวังหน้าขึ้นพร้อมกันทางด้านทิศเหนือของพระราชวังหลวง และอยู่ชิดกับฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 

ประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องราวของวังหน้านี้ดูจะเป็นลืมเลือนไปจากประชาคมแห่งนี้ ตราบจนกระทั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สร้างอาคารอเนกประสงค์ ๒ ขึ้นใหม่ จึงมีการขุดพื้นดินต่าง ๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดแสดงรูปร่างของกำแพงวังหน้าให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้ชื่นชมว่า กาลครั้งหนึ่ง พื้นที่บริเวณนี้เป็นสถานที่ตั้งของวังหน้า 

อย่างไรก็ดี สำหรับนักศึกษาและศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยแห่งนี้จำนวนหนึ่ง เชื่อว่าการที่สถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือ วังหน้า หมายถึง สถานที่แห่งนี้มีจิตวิญญาณของการช่วยเหลือสถาบัน ทางอำนาจ และในขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่ ถ่วงดุล และตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้นำสูงสุดตลอดมา

ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทั้งในยามเจริญรุ่งเรืองและในยามที่ต้องประสบด้วยแรงบีบคั้นทางการเมือง ชนิดต่าง ๆ บริเวณที่อยู่ติดกันกับกำแพงวังหน้าคือ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่มีการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกมาตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัย

          สนามฟุตบอล บริเวณที่เป็นอาคารอเนกประสงค์ในปัจจุบันนี้ ในยุคแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นที่ตั้งของอาคารเรียนและอาคารที่พักของนักเรียนโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ ต.มธก.ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๘ 

โรงเรียน ต.มธก. จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และจัดการเรียนการสอนแบบเต็มเวลา โดยที่ทางมหาวิทยาลัยมีความตั้งใจว่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้การศึกษา ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งจัดการเรียนการสอนแบบตลาดวิชามีการพัฒนาที่ดีขึ้น กล่าวคือ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยจะมีสองระบบทั้งที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมอื่น ๆ ทั่วไปและสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นการเฉพาะ 

โรงเรียน ต.มธก. จึงเป็นตำนานของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เนื่องด้วยนักเรียน ต.มธก.แต่ละคน แต่ละรุ่น จบการศึกษาเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตล้วนมีคุณภาพและมีชื่อเสียงมีผลงาน กิจกรรมทั้งด้านการเรียนการสอน กิจกรรม ทางการเมือง และกิจกรรมทางด้านการบริหารประเทศ และการทำงานสาธารณะเป็นอย่างมากทุกคน ตัวอย่างเช่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊ง ภากรณ์, ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ศาสตราจารย์ประภาศน์ อวยชัย และศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก เป็นต้น บริเวณที่อยู่ใกล้กับอาคารตึกโดมฝั่งสนามฟุตบอล นับว่ามีตำนานอันยิ่งใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง เนื่องด้วยเป็นเวทีและศูนย์กลางการจัดชุมนุมใหญ่ ในระหว่างวันที่ ๑๐-๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖