Loading...

โครงการอบรมหลักสูตรพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ผ่าน Multi Mentoring System

“การส่งเสริมให้นักวิจัยรุ่นใหม่ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องและนำไปใช้ประโยชน์แก่สังคมเพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน”

 

 

          จบไปอีกหนึ่งงานเสวนาสำคัญโครงการอบรมหลักสูตรพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ผ่าน Multi Mentoring System ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งมีวัตุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยรุ่นใหม่ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในการวางแผนการวิจัยเพื่อสร้างผลกระทบและผลิตงานวิจัยอย่างต่อเนื่องและนำไปใช้ประโยชน์แก่สังคมเพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน โดยงานนี้จัดขึ้นในวันพฤหัสบดี ที่ 14 มีนาคม 2562 เวลา 09.00 – 16.00 ณ ห้องสัมมนากลาง ชั้น 1 สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีวิทยากรมีมากประสบการณ์ด้านการวิจัยมากมายมาให้ความรู้ อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรสุวรรณ ศาสตราจารย์ ดร.ตรีทศ เหล่าศิริหงษ์ทอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรพจน์ เวศพันธุ์ และศาสตราจารย์ ดร. ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ที่มาพูดคุยในหัวข้อ “หลากมุมมองจากผู้มีประสบการณ์: ก่อนการก้าวสู่นักวิจัยมืออาชีพ”

การฟัง การคิด และการปฏิบัติ การผสมกลมกลืนในการทำวิจัย

          ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรสุวรรณชวนเปิดประเด็นด้วยหลักคิดทางศาสนาพุทธกับการทำงานวิจัย อาจารย์เริ่มว่าก่อนอื่นต้องบอกว่าตอนที่ผมเริ่มดำเนินงานศึกษาอะไรสักเรื่องที่ทุกวันนี้เราเรียกกันว่างานวิจัยนั้น จริง ๆ ผมไม่ได้เริ่มจากการอยากทำวิจัยแบบเป็นระบบ แต่เริ่มจากความสนใจใคร่รู้เรื่องต่าง ๆ เราอยากรู้คำตอบ เลยเข้าไปศึกษามัน ทีนี้มันก็เลยเกิดผลออกมาเป็นงานวิจัย ผมเลยอยากบอกว่าก่อนอื่นสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ อยากให้เริ่มจากความสนใจ อย่าได้ไปดูที่เป้าหมาย ดูที่ว่าเราสนใจไหมในการสร้างความรู้หรือปัญญาเหล่านั้น ที่มีมันมีแนวคิดและทฤษฎีว่าด้วยความรู้จากหลากหลายคำอธิบาย ผมได้เห็นจากในพระไตรปิฎกซึ่งระบุว่าปัญญามันเกิดขึ้นมาได้ 3 วิธี คือ 1. การฟัง 2. การคิด และ3.การปฏิบัติ ซึ่ง 3 หลักนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกสาขาในการทำงานวิจัย ฉะนั้นหลักว่าด้วยความรู้มันไม่ได้แตกต่างกันมากนักระหว่างสาขาวิชาต่าง ๆ

          การแบ่งสามกรอบคิดพอมาดูอีกที แต่ก่อนเราเข้าใจว่ามันมีการเรียงกัน แต่ในความเป็นจริงโดยเฉพาะในปัจจุบัน การรับรู้ของคนมันเปลี่ยนไป ฉะนั้นมันสามารถสลับกันได้หมด แต่ทีนี้พอเรามาดูในเชิงรายละเอียดของกระบวนการสร้างความรู้หรือปัญญา อย่างเรื่องการฟัง เข้าใจว่าการฟังในความหมายของคนในอดีตคือการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ เพื่อหาความรู้ ไม่ใช่การฟังตัวเองพูด ฉะนั้นคนอื่นในความหมายนี้ก็คือสิ่งภายนอกตัวเรา ไม่ว่าจะเป็น ครู หนังสือ ตำรา เพื่อน ฯลฯ ที่เข้ามากระทบตัวเรา ดังนั้นความรับรู้ที่เราได้จะเป็นความรู้สึกทั้งสิ้น ทีนี้รู้สึกไหมว่าการหาความรู้ในช่วงแรก ๆ เราจะเป็นเรื่องความรู้สึกล้วน ๆ ว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร เราอยากทำหรือสนใจเรื่องอะไร เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเราถูกกระทบจากภายนอก แต่การฟังที่ดีไม่ใช่การฟังที่เน้นแต่เสียงสดุดีเราต้องฟังเสียงวิจารณ์ด้วย ส่วนตัวคิดว่าคำวิจารณ์นี่สำคัญมากเพราะมันจะทำให้เราพัฒนาตัวเองให้เพิ่มเติมไปได้อีก เมื่อมองดีนี่คือแนวทางในการเก็บข้อมูลที่เป้นอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง

          ในเรื่องที่สองคือการคิด ส่วนตัวก็ตีความว่ามันคือเรื่องเกี่ยวกับอัตวิสัยภายในตัวเองหลังจากที่เราได้รับข้อมูล ได้รับการกระทบจากสิ่งภายนอก และส่งผ่านกระบวนการความตระหนักรู้ การทบทวนภายในตัวเอง ตัวเราจึงต้องใช้ความคิดมาพิจารณาปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเรา สิ่งภายนอก และโลก ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ตัดขาดจากกันไม่ได้ ในการสร้างความรู้หรือยกระดับการวิจัย และนี่ก็คือแนวทางการค้นคว้า การหาข้อมูลเพิ่มเติม การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่เราได้มาจากแหล่งต่าง ๆ การวินิจฉัยและอนุมานข้อมูล ซึ่งเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างยาว ตัวเราเองจึงต้องจัดการกับสิ่งเหล่านี้ เข้าไปมีส่วนในการจัดกลุ่มข้อมูล จนมันได้มาเป็นโจทย์วิจัยที่มีลักษณะเฉพาะระดับหนึ่ง แพราะความเป็นจริงเราไม่สามารถคิดโจทย์ครอบจักรวาลได้ ความสามารถในการรับรู้ข้อมูลของเราไม่มากเพียงพอขนาดนั้น เราไม่สามารถทราบความจริงทั้งหมดได้ ดังนั้นเราต้องเอาประเด็นที่แน่น ๆ เจาะลึก สร้างความเปลี่ยนแปลง และสามารถทำได้จริง และข้อสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องความคิดคือเราต้องคิดอย่างเป็นคำถามที่เป็นระบบและมีความเป็นรูปธรรม คำถามที่ดีจะนำพาเราไปสู่การทำวิจัยที่มีคุณภาพได้ ฉะนั้นการศึกษาวิจัยและการสร้างความรู้ก็คือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเราและสิ่งภายนอกเพราะฉะนั้นผลของการตอบโต้กันก็คือการปฏิบัติ

          พูดง่าย ๆ ก็คือสมมติเราคิดได้ หาข้อมูลมาแล้ว แต่มันไม่เกิดผลในทางปฏิบัติมันก็จบเท่านั้น ฉะนั้นเรื่องการปฏิบัติมันจึงมีความสัมพันธ์ เพราะนี่เป็นการทดสอบกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลกภายนอกว่าว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราคิดมันสอดคล้องกับความเป็นจริงของโลกภายนอกมากน้อยแค่ไหน มันตอบโจทย์ความเป็นไปของโลกภายนอกเพียงใด คนที่เอาไปปฏิบัติจริงได้ผลลัพธ์ตามทฤษฎีที่เราคิดไว้มากน้อยแค่ไหน นี่คือสิ่งที่เป็นผลลัพธ์และความจำเป็นอย่างมากของการผลิตงานวิจัยเพื่อการขยายและต่อยอดการพัฒนาการศึกษาในหัวข้อต่าง ๆ ยิ่งงานชิ้นนั้นสอดคล้องกับโลกภายนอกเท่าใด ก็หมายถึงความสามารถของการศึกษานั้นที่สอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นความรู้ที่ใกล้เคียงกับปัญญาที่มีอยู่จริง แต่ใช่ว่าความรู้จะเป้นจริงตลอดเวลาเมื่อถึงจุดหนึ่งมันก็จะถูกปรับเปลี่ยน เกิดการปะทะขององค์ความรู้ใหม่ที่มันสามารถอธิบายสังคมได้ดีกว่าเดิม ซึ่งงาน Thomas Kuhn อธิบายเรื่องพวกนี้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์ทางความรู้ และจากที่ผมทำงานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในไทยมา เราแทบไม่เคยเห็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในไทยเลย เพราะเรานำเข้าความรู้จากภายนอกเป็นหลัก สรุปง่าย ๆ ก็คือเรามีปัญหากับการสร้างองค์ความรู้ของตนเองมากกว่าที่เราจะสร้างกันเอง เรายืมกันเยอะมาก

เก่ง ดี และมีมนุษยสัมพันธ์คือหัวใจของการทำวิจัย

          ต่อผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรพจน์ เวศพันธุ์ชวนถกเถียงเกี่ยวกับการเป็นนักวิจัยที่มีคุณผภาพ อาจารย์กล่าว่าผมอยากเริ่มต้นด้วยการพูดเรื่องบทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ปัจจุบัน สกอ. กำหนดไว้ 4 เรื่อง คือ สอน วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทีนี้เพิ่ม 4.0 ขึ้นมา ที่รัฐบาลต้องการเพิ่มการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันมหาวิทยาลัยจำนวนมากประสบปัญหาความท้าทายเกี่ยวกับจำนวนอัตราการเกิดที่ลดลง ฉะนั้นการแข่งขันของมหาวิทยาลัยจึงเพิ่มมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดตัดสำคัญทางด้านการพัฒนาการเรียนการสอนและหลักสูตร นี่ถือเป็นการเอาตัวรอดของมหาวิทยาลัย

          คำถามคือทำไมอาจารย์ต้องทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง คำตอบง่าย ๆ ก็คืออาจารย์มีหน้าที่สอน การหาความรู้ใหม่ ๆ มาสอนเด็ก ก็จะทำได้ผ่านการทบทวนองค์ความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการทำวิจัย การทำวิจัยช่วยให้เรามีสิ่งใหม่ ๆมาให้นักศึกษา ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยตอนนี้คือการทำวิจัยของเราเน้นการสร้างองค์ความรู้จนละเลยองค์ความรู้งานวิจัยด้านการพัฒนาที่เน้นสู่การปฏิบัติได้จริง ขาดการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในการประยุกต์จริงในสังคมและสร้างนวัตกรรมรูปแบบใหม่ นี่ถือเป็นความท้าทายใหญ่ของการวิจัยในไทย

          อีกหนึ่งหัวข้อที่อยากชวนพูดคุยคือเรื่องการวิจัยแล้วต้องเผยแพร่ให้คนอื่น ๆ รับรู้ ผมเลยอยากขอแลกเปลี่ยนเทคนิคของตัวเองในการตีพิมพ์ผลงานเผยแพร่ สิ่งสำคัญประการแรกเลยก็คือเราต้องอ่านให้มาก เพื่อซึมซับข้อมูล และเห็นสำนวนการเขียนที่หลากหลาย เราต้องเน้นการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านไม่ใช่การเขียนเพื่อการตีพิมพ์ อีกเรื่องคือเราต้องเปิดใจรับคำวิจารณ์จากผู้พิจารณาบทบาทความ เราต้องปรับแก้และทบทวน ฝึกเขียนให้มากเข้าไว้จนเป็นนิสัยติดตัว อีกเรื่องคือแนวทางการทำงานน้อยให้ได้ผลเยอะ บ้านเราทุกวันนี้อาจารย์มีงานเยอะ ผมแนะนำว่าควรใช้กฎ 80:20 คือเลือกทั้ง 20 ที่ให้ผลกับชีวิตมากที่สุด หรือใช้กฎของสตีพ จ๊อบ ที่ทุกตื่นนอนเขาจะคิดว่าตัวเองจะตายแล้วนึกว่าอะไรสำคัญกับชีวิตที่สุด สิ่งนั้นคือสิ่งที่เราต้องทำก่อนเป็นอันดับแรก และที่สำคัญผมอยากแนะนำให้ฝึกสมาธิเพื่อเป็นการรวบรวมจิตใจให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น

          อีกเรื่องคือนักวิจัยที่ใคร ๆ ก็อยากทำงานด้วย สิ่งสำคัญคือเราต้องมีทั้ง เก่ง ดี และมีมนุษยสัมพันธ์ เริ่มจากเก่ง เก่งคือการที่เราต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญที่แตกชาญ จะเก่งได้ก็ต้องทำสิ่งที่ใจเราเรียกร้อง พอใจเราเรียกร้องก็จะมีความใส่ใจ จดจ่อ และผลักดันการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเข้าหลักอิทธิบาท 4 นั่นเอง คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แต่เก่งอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีความดีประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นความซื่อสัตย์ ศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรม ส่วนสุดท้ายคือเรื่องมนุษยสัมพันธ์ ทุกวันนี้เราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราต้องมีทีมที่ดี เพราะการมีทีมจะช่วยให้งานวิจัยของเรามีผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างมากยิ่งขึ้น การจะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องรู้จักปรับตัว และเปลี่ยนแปลงตัวเอง

การสร้างสูตรผสมระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต

          ปิดท้ายด้วยศาสตราจารย์ ดร.ตรีทศ เหล่าศิริหงษ์ทองที่ให้แง่คิดเกี่ยวกับการทำงานกับการใช้ชีวิต โดยอาจารย์กล่าวว่าผมต้องบอกก่อนว่าผมก็เป็นเหมือนคนธรรมดาทั่วไปชีวิตการเรียนไม่ได้หวือหวา ไม่เคยได้เกียรตินิยม หรือเรียนโรงเรียนดี ๆ แต่ที่ผมตกผลึกกับตัวเองว่าอะไรที่ทำให้เราเดินมาถึงจุดนี้ได้ก็คงเป็นเรื่องความอึด ความอดทนของตัวเอง ผมมีเรื่องเดียวที่ประสบความสำเร็จคือแต่งงานแล้วมีลุกเลย ทีนี้พอให้มาพูดเรื่องชีวิตการทำงานวิจัย ผมก็อยากมาแชร์ประสบการณ์ที่ผมได้ไปประชุมที่อเมริกา เขามีคอนเซปใหม่เรื่อง Work-life integration ผมเลยอยากแนะนำนักวิจัยรุ่นใหม่บ้างว่า ปัจจุบันทุกคนมีพันธสัญญาติดตัวมากมาย สิ่งสำคัญคือเราต้องบริหารจัดการมันให้ลงตัว อย่าเอาชีวิตไปผูกติดกับมิติใด มิติหนึ่งมากจนเกินไป ควรจัดสรรมันให้ดีมากยิ่งขึ้น

          นักวิจัยรุ่นใหม่ทุกวันนี้เป็นช่วงวัยที่กำลังมีสีสัน แต่กลับเอาชีวิตมานั่งหน้าคอม พิมพ์งาน เขียนงาน จนดึกดื่น นี่คือปัญหาของการขาดการผสมผสานระหว่างชีวิตและการทำงานที่ยังไม่ดีเพียงพอ และสุ่มเสี่ยงจะเกิดปัญหาได้ เพราะถ้าชีวิตเรารวน มันก็ย่อมส่งผลต่องานและการวิจัยอย่างแน่นอน ฉะนั้นการสร้างการผสมผสานที่กลมกลืนระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตเป็นเรื่องสำคัญมากกับนักวิจัยหน้าใหม่ที่ทุกวันนี้มีความท้าทายที่หลากหลายเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งจากบริบททางด้านสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากปัญหาความท้าทายของระบบการศึกษา

          อีกเรื่องที่อยากฝากไว้คือเรื่องการสร้างทีมการวิจัยซึ่งหนึ่งในวิธีสำคัญที่จะหาทีมหรือเครือข่ายการทำวิจัยดี ๆ ก็คือการที่เราออกมาร่วมงานอบรมหรือสัมมนาประเภทนี้ คือถ้าเรามัวแต่อยู่ในแลปหรืออยู่ในมหาวิทยาลัยเราก็จะไม่มีโอกาสเจอทีมดี ๆ หรือคนเก่ง ๆ จากที่อื่น ที่มันจะมาเติมเต็มการทำงานวิจัยของเราให้มันมีคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคมในอนาคต การทำงานเป็นทีมจะช่วยให้งานวิจัยคมขึ้น มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และผลกระทบของงานจะสูง หลาย ๆ มหาวิทยาลัยมีทุนให้เราไปนำเสนองานต่างประเทศ ซึ่งเป้าหมายหลักจริง ๆ คือการให้เราไปสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยภายนอก แต่หลายคนไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้

          ประเด็นที่ 3 คือการแสวงหาแหล่งเผยแพร่งานวิจัยของเรา คือตอนนี้เรากำลังมีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับแหล่งเผยแพร่ข้อมูลโดยเฉพาะปัจจัยเรื่องผลกระทบของงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ ในฐานข้อมูลต่าง ๆ ตอนนี้เราเลยเหมือนกับติดกับดักสิ่งเหล่านี้ และเราก็พยายามจะไปลงบทความวิจัยในวารสารที่มีผลกระทบสูง ๆ ทั้งที่มันไม่ได้อยู่ในสาขาวิจัยของเรา ฉะนั้นเวลาตีพิมพ์ก็ต้องดูว่าปกติสาขาเราเขาตีพิมพ์กันที่ไหนอย่าไปสนใจตัวผลกระทบของตัววารสารมาก ยิ่งปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ มุ่งเน้นเรื่องการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการวิจัยมากขึ้น มีการยกเลิกสัญญากับวารสารในหลาย ๆ เครือ เพื่อเปิดให้เกิดการเข้าถึงงานวิจัยอย่างเสรีมากยิ่งขึ้น แต่ผมไม่ได้บอกว่าการเปิดข้อมูลไม่ได้หมายถึงว่าดีเสมอไป แต่จะบอกว่าเราควรเน้นที่วารสารที่มันตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายของเรา