Loading...

YPIN Talk Series ครั้งที่ 1 มุ่งมั่นพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยสู่ความเป็นสากล

“ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ชี้ งานวิจัยธรรมศาสตร์คุณภาพสูง ได้รับการยอม พร้อมแนะขอตำแหน่งวิชาการต้องทำก่อนเกณฑ์ใหม่ และหากคิดจะเริ่มงานวิจัยต้องเริ่มลงมือทำ อย่ารีรอ”

 

 

          ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ YPIN Talk Series ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช มาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายใต้หัวข้อ กรอบการวิจัย Thailand 4.0  เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ Thammasat Creative Space มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

งานวิจัยธรรมศาสตร์แข่งขันได้ แม้จะน้อยแต่มีคุณภาพสูง

          อาจารย์ผดุงศักดิ์ เริ่มเปิดบทสนทนากับผู้เข้าร่วมอบรมด้วยการแสดงสถิติตัวเลขงานวิจัยภาพรวมของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าตอนนี้การผลิตงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ตรงไหนของประเทศ ปัจจุบันตัวเลขงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติอยู่ที่ประมาณ 700 – 800 ชิ้น ขึ้นๆ ลงๆ ตามแต่ละปี โดยภาพรวมบทความวิจัยมาจากสายวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ ทั้งคณะสายสุขภาพ สายวิทยาศาสตร์ และสายวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ พบว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังอยู่ในระดับกลางๆ ในขณะที่มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศไทยที่มีบทความวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติมากที่สุด น่าสนใจว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังมีสถิติการตีพิมพ์งานวิชาการในระดับนานาชาติที่ต่ำกว่ามหาวิทยาลัยตามภูมิภาค อย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือมหาวิทยาลัยขอนแก่น

          ถึงแม้ว่าบทความวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติของธรรมศาสตร์จะมีน้อย แต่อาจารย์ผดุงศักดิ์เสนอสถิติอีกหนึ่งชิ้นที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นการจัดลำดับ H-Index สะท้อนให้เห็นว่าบทความของแต่ละมหาวิทยาลัยมีการอ้างอิงมากน้อยเพียงใด อาจารย์ผดุงศักดิ์นำเสนอว่างานวิจัยของธรรมศาสตร์เป็นงานที่ถูกอ้างอิงจำนวนมาก แม้ว่าจะมีผลผลิตที่ไม่มากนัก ปัจจัยเหล่านี้ส่งเสริมให้ H-Index ของธรรมศาสตร์ค่อนข้างสูงอยู่ที่ระดับ 60 ซึ่งสามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้อาจารย์ผดุงศักดิ์ชี้ให้เห็นว่าคณะด้านสังคมศาสตร์ของธรรมศาสตร์มีการผลิตงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่ค่อนข้างน้อย โดยเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพราะปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลกลายเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของไทยที่ผลิตงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ในขณะที่งานวิจัยสายวิศวกรรมศาสตร์ของธรรมศาสตร์ค่อนข้างมีความโดดเด่นอย่างมาก อาจารย์ผดุงศักดิ์ปิดท้ายหัวข้อนี้ไว้ด้วยการเสนอแนวทางการเพิ่มงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติว่า คณาจารย์และนักวิจัยต้องเน้นทำผลงานที่จะตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติให้มากขึ้น หรือในอีกทางอาจารย์เสนอตัวแบบของมาเลเซียที่ยกระดับวารสารของมหาวิทยาลัยให้มีความเป็นนานาชาติมากยิ่งขึ้น

ขอทุนวิจัยยุค 4.0 ต้องตอบสนองวาระแห่งชาติและเทคโนโลยีหลักของประเทศ

          อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของงานคือเรื่องการเขียนขอทุนทำวิจัย อาจารย์ผดุงศักดิ์สะท้อนภาพให้เห็นว่าปัจจุบันอาจารย์มหาวิทยาลัยกำลังถูกมองว่าชอบผลิตงานวิจัยสำหรับขึ้นหิ้ง ทำให้หน่วยงานจำนวนมากไม่สนใจมอบทุนการวิจัยให้ และแนวโน้มการให้ทุนวิจัยในอนาคตจะเน้นส่งเสริมงานวิจัยที่นำไปใช้ได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามอาจารย์กลับมองตรงกันข้ามว่าภาระหน้าที่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยยังมีความจำเป็นอย่างมากในการทำงานวิจัยพื้นฐานองค์ความรู้ ซึ่งจะปูทางให้หน่วยงานอื่นๆ นำไปต่อยอด เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในต่างประเทศ ในขณะเดียวกันอาจารย์มหาวิทยาลัยยังคงมีข้อจำกัดเพราะต้องสอนหนังสือด้วย งานวิจัยจึงกลายเป็นงานpart time แตกต่างจากสถาบันวิจัย อาจารย์ผดุงศักดิ์เสนอว่างานวิจัยในอนาคตจำเป็นต้องมี partner จากภายนอกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้งานวิจัยสร้างผลกระทบในเชิงปฏิบัติมากยิ่งขึ้น

          สำหรับข้อเสนอวิจัยที่น่าสนใจในทัศนะของอาจารย์ผดุงศักดิ์คืองานวิจัยที่ตอบสนองวาระแห่งชาติ 6 เรื่องคือเกษตรและอาหาร พลังงาน สังคมสูงอายุ เมืองอัจฉริยะ น้ำ และภูมิอากาศ สิ่งสำคัญคือนักวิจัยต้องทำงานข้ามศาสตร์มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างจุดสนใจ การเขียนหัวข้อเสนองานวิจัยต้องมีประเด็นชัดเจน เนื้อเน้นๆ มากกว่าเขียนวกไปวนมาจนไม่สามารถจับประเด็นได้ ปัญหาเหล่านี้จะทำให้หน่วยงานให้ทุนตัดสินใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีหน่วยงานให้ทุนวิจัยหลักผ่านงบบูรณาการ สกว. วช. สวรส. สวทน. ฯลฯ แต่ปัญหาสำคัญคือหน่วยงานเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตจากการปฏิรูปกระทรวงของรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์เสนอให้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่อาจารย์ผดุงศักดิ์เสนอว่าเป็นโชคดีเพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการมอบทุนวิจัยพื้นฐานจำนวนมากให้ ซึ่งไม่จำกัดเพียงการตีพิมพ์งานวิจัยเท่านั้น แต่รวมถึงการจดสิทธิบัตรผลงานด้วย นี่ถือเป็นโอกาสสำคัญของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่จะได้พัฒนาตนเอง ก่อนยกระดับไปขอทุนวิจัยระดับที่สูงขึ้น

ขอตำแหน่งวิชาการต้องทำทันทีก่อนเกณฑ์ใหม่จะเริ่มใช้ตุลาคมนี้

          ในประเด็นถัดมาอาจารย์ผดุงศักดิ์นำพาวงสนทนาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นการขอตำแหน่งทางด้านวิชาการ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มผู้เข้าร่วมงาน มีการซักถามและพูดคุยในหลายประเด็นที่เป็นเรื่องข้องใจและไม่ชัดเจน หนึ่งในเรื่องสำคัญคือเกณฑ์ประเมินตำแหน่งวิชาการระดับต่างๆ อาจารย์ผดุงศักดิ์ระบุว่าธรรมศาสตร์มีข้อดีอยู่ประการสำคัญคือการไม่ประกาศเกณฑ์การขอตำแหน่งวิชาการของตนเองครอบไปกับกฎเกณฑ์ของ สกอ. ส่งผลให้การขอตำแหน่งทางวิชาการไม่ยุ่งยากมาก เป็นไปตามระบบปกติ ซึ่งแตกต่างจากบางมหาวิทยาลัยที่มีเกณฑ์ครอบระเบียบของสกอ. อย่างไรก็ตามอาจารย์ผดุงศักดิ์เสนอว่าภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ควรรีบขอตำแหน่งวิชาการ เนื่องจากจะมีการประกาศใช้ระเบียบใหม่ของ สกอ. ซึ่งจะทำให้การขอตำแหน่งวิชาการยากขึ้น การขอตำแหน่งวิชาการจึงต้องทำทันที ก่อนเกณฑ์ใหม่จะเริ่มใช้ตุลาคมนี้

          ข้อดีของเกณฑ์ใหม่มีเพียงการปรับให้การขอตำแหน่งวิชาการระดับรองศาสตราจารย์ไม่จำเป็นต้องเขียนตำรา แต่ปัญหาสำคัญคือการจะใช้ตำรายื่นขอตำแหน่งวิชาการในเกณฑ์ใหม่จำเป็นต้องผ่านผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินด้วย ในขณะที่ข้อดีอีกประการคือเกณฑ์ใหม่ช่วยลดระยะเวลาในการขอตำแหน่งวิชาการที่ไม่จำเป็นต้องเว้นช่วงนานๆ แบบอดีต แต่โดยภาพรวมก็ยังถือว่าการขอตำแหน่งวิชาการในระบบเก่าสามารถดำเนินการได้สะดวกกว่า และโอกาสได้มีสูงกว่า เพราะเกณฑ์ใหม่การประเมินต้องผ่านในระดับดี ถึง ดีมาก เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เกณฑ์ดี ในความหมายของอาจารย์ผดุงศักดิ์คือ การทำวิจัยที่มีองค์ประกอบครบถ้วน มีการสังเคราะห์งานเป็นระบบ ระเบียบวิธีวิจัยชัดเจน และมีความแปลกใหม่ ในขณะที่ระดับ ดีมาก คือมีทุกอย่างตามระดับดี แต่ควรมีการบุกเบิกองค์ความรู้ใหม่ๆ ในแขนงวิชานั้นๆด้วย และสุดท้ายระดับดีเด่น คือมีทุกอย่างเหมือนระดับดีมาก แต่ควรมีการบุกเบิกองค์ความรู้ที่มีคุณค่ายิ่ง และสร้างผลกระทบอย่างสูงด้วย หรือกล่าวอย่างง่ายคืองานวิจัยที่จะอยู่ในเกณฑ์ประเมินระดับดี คืองานวิจัยที่ทำเพียงการขยายฐานความรู้ ในขณะที่งานวิจัยที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ถึง ดีเด่น คืองานวิจัยที่บุกเบิกองค์ความรู้ใหม่หรือสร้างแก่นความรู้ให้ศาสตร์แขนงนั้นๆ

          ก่อนจบงานครั้งนี้ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช กล่าวเป็นกำลังใจให้นักวิจัยทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ทุกคน เน้นย้ำให้พยายามสร้างงานที่มีการคาบเกี่ยวข้ามศาสตร์มากยิ่งขึ้น หรือสร้างความร่วมมือการทำวิจัยระหว่างคณะเพื่อขยายวงวิชาการทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย สำหรับคนขอตำแหน่งศาสตราจารย์ อาจารย์แนะว่าให้ระวังเรื่องคำผิดในจุดสำคัญของตำรา สุดท้ายอาจารย์กล่าวว่า “สำหรับคนเป็นนักวิจัยความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ ความสำเร็จเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเปรียบนักวิจัยคือนักมวย จงปล่อยหมัดออกไปอย่าได้ลังเล การทำงานวิจัยก็ไม่ต่างกัน เขียน ลงมือทำ อย่ามัวแต่รอ”