Loading...

YPIN Talk Series ครั้งที่ 2 เส้นทางการเป็นนักวิจัยมืออาชีพและจรรยาบรรณการวิจัย

“เวทีเสวนานักวิจัย มธ.แนะ นักวิจัยรุ่นใหม่จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีความพยายาม มีระเบียบวินัย และเสริมสร้างองค์ความรู้ตลอดเวลา”

 

 

          ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ YPIN Talk Series ครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยได้รับเกียรติจาก นพ.กิตติศักดิ์ กุลวิชิต มาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องจรรยาบรรณการวิจัย ติดตามมาด้วยเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของ 3 นักวิจัย อย่าง ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ศ.ดร.เกศรา ณ บางช้าง และรศ.ดร.ศากุน บุญอิต โดยมีดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช เป็นผู้ดำเนินรายการ

จรรยาบรรณการวิจัยเป็นเรื่องของธรรมาภิบาล

 

          นพ.กิตติศักดิ์เริ่มเปิดประเด็นการพูดคุยด้วยคำถามที่น่าสนใจว่า “เราจะวัดว่าการทำวิจัยของเราผิดหรือไม่ผิดจริยธรรมได้อย่างไร” หนึ่งในคำตอบที่อาจารย์มอบให้คิดคือไม่มี เพราะจะถูก หรือ ผิด จริยธรรมการวิจัย หรือการเผยแพร่การวิจัยขึ้นอยู่กับว่าผู้วิจัยมีธรรมาภิบาลมากแค่ไหน มีความโปร่งใส หรือไม่ มีความรับผิดชอบระดับใด และบริบทของตัวงานสื่อไปในทางที่จะมีความผิดมากน้อยเพียงใด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยตัดสินทั้งสิ้น

          ถ้าถามว่าการตีพิมพ์ซ้ำซ้อนมีความผิดจรรยาบรรณหรือไม่ ผู้เข้าร่วมวงสนทนาต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “มี” แต่สำหรับอาจารย์กลับไม่มองเช่นนั้น เพราะท่านพาย้อนไปตั้งคำถามว่าทำไมมันถึงมีความผิด ท่านมองว่าจะผิดหรือไม่ผิดในเรื่องการตีพิมพ์ซ้ำซ้อนนั้นอยู่ที่ผู้ตัดสินใจซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากร เราในฐานะนักวิจัยก็ต้องมีความโปร่งใสด้วย คือต้องแจ้งไปยังวารสารนั้นๆ ว่างานชิ้นนี้เคยตีพิมพ์แล้ว ส่วนเขาจะลงให้หรือไม่ เป็นเรื่องของวารสาร

          ในประเด็นต่อมานพ.กิตติศักดิ์ชวนพูดคุยเกี่ยวกับการลอกเลียนงานวิจัยโดยมิชอบ อาจารย์ให้ความสำคัญกับคำว่า “มิชอบ” ไว้อย่างมาก เห็นได้จากความพยายามเน้นย้ำเสมอว่าคำนี้เป็นจุดตัดสำคัญว่าเราตั้งใจที่จะคัดลอกผลงานของผู้อื่นหรือไม่ เพราะ "การคัดลอกงานวิจัยโดยมิชอบ ไม่ได้ผิดหลักกฎหมาย แต่ผิดจรรณยาบรรณซึ่งนักวิจัยทั้งหลายต้องระมัดระวัง" นพ.กิตติศักดิ์ปิดท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า การลอกเลียนโดยมิชอบ หรือ Plagiarism นั้น มันไม่ได้วัดกันที่ปริมาณ แต่วัดกันที่ว่าโดยชอบ หรือโดยมิชอบ

เส้นทางสู่การเป็นนักวิจัยมืออาชีพ

 

          ภายหลังการสนทนาเรื่องจรรยาบรรณการวิจัยจบลง อีกหนึ่งประเด็นใหญ่ของการพูดคุยคือเรื่องเส้นทางการเป็นนักวิจัยมืออาชีพ ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของนักวิจัยอาวุโสหลายท่านทั้งจากสายวิทยาศาสตร์กายภาพ สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสายสังคมศาสตร์

          ศ.ดร.ผดุงศักดิ์เปิดประเด็นเรื่องนี้ด้วยการฉายภาพปัญหาสำคัญของนักวิจัยรุ่นใหม่ โดยเฉพาะก้าวย่างสำคัญภายหลังจากจบปริญญาเอก สู่เส้นทางการวิจัย อาจารย์มองว่า "กับดักของนักวิจัยรุ่นใหม่คือขาดความเชื่อมั่น ลังเล อ่านเยอะ คิดเยอะ แต่ไม่ลงมือทำ เปรียบเป็นมวยก็มัวแต่รำไม่ยอมชก" นอกจากนี้มากกว่าร้อยละ 80 ของนักวิจัยเหล่านี้ มีการเปลี่ยนแปลงความเชี่ยวชาญตามกรอบงบประมาณ ทำให้ไม่มีจุดยืนของตนเอง สิ่งเหล่านี้จะส่งผลสำคัญต่อการขอตำแหน่งวิชาการในอนาคต ฉะนั้นอาจารย์เสนอว่านักวิจัยรุ่นใหม่ต้องสร้างฐานและความเชี่ยวชาญเฉพาะของตัวเองให้ได้

          ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหามหาวิทยาลัยไทย โดยชี้ว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยไทยไม่ได้ขาดแคลนผู้สอน แต่ขาดแคลนผู้สอนที่สามารถทำวิจัยได้ ซึ่งนี่ถือเป็นจุดแข็งของนักวิชาการที่สามารถแบ่งสรรเวลาระหว่างการสอนและการวิจัยได้ และสิ่งเหล่านี้จะช่วยขับดันให้นักวิจัยรุ่นใหม่ก้าวหน้าได้ไว อาจารย์แนะเพิ่มเติมว่าการทำวิจัยให้สำเร็จมีองค์ประกอบสำคัญที่นักวิจัยรุ่นใหม่ต้องทำให้เกิดคือ มีความอยากทำ หาทุนในทำวิจัยได้ มีการจัดการที่ดี และมีทีมวิจัยชั้นเลิศ

 

          สำหรับในส่วนของศ.ดร.เกศรา เสนอว่านักวิจัยรุ่นใหม่ต้องมองการศึกษาค้นคว้าที่มีความเป็นสหวิทยาการมากยิ่งขึ้น และต้องพยายามหาทีมในการทำวิจัย เพื่อให้ผลการศึกษาสามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง อาจารย์เสนอว่า "ความเก่งกับพื้นฐานทางวิชาการเป็นเพียงคุณสมบัติหนึ่งของนักวิจัย แต่ความมุ่งมั่นและระเบียบวิจัยคือปัจจัยความสำเร็จของการทำวิจัย" ที่สำคัญอาจารย์แนะว่าการเขียนบทความวิจัยอย่าใช้คำเปลือง ควรเขียนให้ตรงประเด็น และชัดเจน

          นอกจากนี้ศ.ดร.เกศรา ยังแนะนักวิจัยรุ่นใหม่เพิ่มเติมว่า การทำวิจัยต้องสามารถสร้างสมดุลระหว่างสมองทั้งสองซีกคือความคิดสร้างสรรค์และกระบวนการคิดวิเคราะห์ซึ่งนี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานวิจัยมีความแปลกใหม่และสามารถตอบโจทย์สังคม ที่ขาดไม่ได้นักวิจัยที่ดีต้องตื่นตัวตลอดเวลา ติดตามค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ผลิตขึ้นทุกวัน และยิ่งไปกว่านั้นการจะทำวิจัยให้ได้ผลสัมฤทธิ์ นักวิจัยต้องมีแรงจูงใจที่ชัดเจน มีเป้าหมายที่มองเห็นได้ไม่มากก็น้อย และมีการจัดสรรเวลาที่ดี

 

          รศ.ดร.ศากุน พูดเสริมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องปัญหาการตีพิมพ์ผลงานวิชาการของสายสังคมศาสตร์ที่ยังคงติดกับดักเดิมๆ เกี่ยวกับความไม่พร้อมในการยกระดับงานวิจัยสู่การตีพิมพ์ในระดับสากล อาจารย์มองว่านักวิจัยรุ่นใหม่สายสังคมศาสตร์ยังคงเน้นผลิตผลงานเพียงเพื่อตอบโจทย์งานเฉพาะหน้ามากกว่ามองไกลไปถึงอนาคต ในขณะที่อาจารย์จำนวนมากไม่มีการผลิตงานวิจัย ฉะนั้นสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่อาจารย์เสนอว่า "งานวิจัยที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ คืองานวิจัยที่ไม่สมบูรณ์ ฉะนั้นก้าวย่างของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่สำคัญคือการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ"

          ยิ่งไปกว่านั้นอาจารย์มองว่างานวิจัยสังคมศาสตร์ที่ดีควรมีพื้นฐานทางด้านทฤษฎีรองรับอย่างกว้างขวาง ที่สำคัญคือควรมีการนำหลักคิดการวิจัยแบบวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ควบคู่ไปด้วย ท้ายนี้อาจารย์ชวนมองปรากฏการณ์ต่างประเทศพร้อมเสนอว่าในอนาคตคาดว่าจะมีการจัดอันดับของคณาจารย์และนักวิจัยเพื่อเป็นเครื่องชี้วัดศักยภาพ

          สุดท้ายนี้อาจารย์วิรัชสรุปประเด็นการสนทนาผ่านการพูดคุยของวิทยากรทุกคนสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ไว้อย่างน่าสนใจคือ แนวโน้มการทำงานวิจัยในอนาคตจะมุ่งเน้นการทำงานข้ามแขนงวิชามากยิ่งขึ้น การทำงานแบบมือปืนฉายเดี่ยวจะค่อยๆหมดไป แต่การทำงานเป็นทีมจะโดดเด่นมากขึ้น ในขณะที่การตีพิมพ์เผยแพร่งานวิชาการกลายเป็นเรื่องบังคับ โดยรวมอาจารย์มองว่านักวิจัยมืออาชีพเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลสูง ความมุ่งมั่นตั้งใจ ตลอดจนวินัย จะเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จของอาชีพนักวิจัย