Loading...

YPIN Factsheet no.9 ข้อมูลงานวิจัยในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ

“งานวิจัยกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพหนึ่งความแข็งแกร่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

 

 

          ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หันมาให้ความสนใจในด้านการวิจัยและพัฒนามากยิ่งขึ้น ในช่วงปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้มีการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมการผลิตผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ตลอดจนการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้มีความรอบด้านและตอบสนองสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีการนำเอามี SciVal เข้ามาใช้ ตามยุทธศาสตร์ปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้เครื่องมือดังกล่าวสามารถช่วยให้เกิดการทบทวนและวิเคราะห์สถานการณ์การตีพิมพ์ผลงานวิจัยในฐานข้อมูลสากาลของทั้งมหาวิทยาลัยได้อย่างรอบด้านมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการมองแบบ 360 องศา เพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจวางแผนเชิงกลยุทธ์สำหรับคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย ยิ่งไปกว่านั้นโปรแกรมนี้ยังช่วยให้เราสามารถทราบจุดอ่อน และจุดแข็งในการพัฒนาทางด้านการวิจัย และทำให้การจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยเกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันยังสามารถประเมินและเทียบเคียงศักยภาพทางด้านการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยทั้งภายในตัวมหาวิทยาลัยเองและกับหน่วยงานภายนอกที่มีการผลิตผลงานในลักษณะใกล้เคียงกันด้วย ทั้งนี้เมื่อลงไปในเชิงรายละเอียดเราเห็นความโดดเด่นของหลากหลายแขนงวิชาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สามารถทำงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

ความโดดเด่นของกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          อย่างที่ได้เรียนไปก่อนหน้านี้แล้วว่าคุณลักษณะสำคัญของโปรแกรม SciVal คือการวิเคราะห์ข้อมูลการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในฐานข้อมูลสากลแบบรอบด้านทำให้เราเห็นคุณลักษณะและศักยภาพแต่ละด้านของกลุ่มวิชาต่าง ๆ ทั้งนี้จากการใช้โปรแกรมดังกล่าวเข้าไปศึกษาในกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ พบว่าในช่วงตลอดการประมวลการตีพิมพ์ผลงานในกลุ่มสาขานี้มีบทความวิจัยและบทความวิชาการตีพิมพ์ในฐานข้อมูลสากลทั้งสิ้น 1267 ชิ้น และเป็นที่น่าสนใจว่าว่าในจำนวนนี้มีการอ้างอิงบทความดังกล่าวสูงถึง 8266 ครั้ง กล่าวคือค่าเฉลี่ยการอ้างอิงต่อหนึ่งบทความวิจัยมีค่าถึง 6.5

          เมื่อมาดูกลุ่มสาขาวิชาย่อยในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในฐานข้อมูลสากลพบว่ากลุ่มสาขาวิชาที่มีการตีพิมพ์ผลงานมากที่สุดคือกลุ่มคลินิกเวชกรรมคิดเป็นร้อยละ 49.6 รองลงมาคือสาขาการวิจัยการแพทย์พื้นฐานมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยคิดเป็นร้อยละ 19 ตามมาด้วยกลุ่มวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสาธารณสุขศาสตร์ ร้อยละ 16.7 และ 12.3 ตามลำดับ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นจุดแข็งสำคัญของการผลิตงานวิจัยในกลุ่มสาขาวิชาย่อยต่าง ๆที่มีผลิตภาพในการผลิตงานวิจัยที่มีคุณูปการสำคัญต่อภาพรวมการทำวิจัยของทั้งมหาวิทยาลัย

          นอกจากโปรแกรมนี้จะประมวลข้อมูลการตีพิมพ์ผลงานวิจัยแยกตามสาขาวิชาได้แล้วยังสะท้อนให้เราเห็นด้วยว่าในจำนวนบทความวิจัย 1267 ชิ้นนี้มาจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยทั้งสิน 1093 คน อย่างไรก็ตามนั่นไม่ได้หมายความว่าคณาจารย์และนักวิจัยแต่ละท่านจะผลิตผลงานเฉลี่ยคนละ 1 ชิ้น แต่ในความเป็นจริงคณาจารย์และนักวิจัยหลาย ๆ ท่านสามารถผลิตผลงานตีพิมพ์ได้มากถึง 7-8 ชิ้นต่อคนด้วยกัน นอกจากนี้ข้อมูลยังสะท้อนว่าผลผลิตงานวิจัยของกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพนั้นมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นการผลิตผลงานเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ได้รับการยอมรับในฐานข้อมูลสากลไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด ก็มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

SciVal ช่วยให้เห็นจุดแข็งสำคัญของกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

          เมื่อลองประมวลข้อมูลในเชิงรายละเอียดมากยิ่งขึ้นพบว่างานวิจัยที่มีการตีพิมพ์ในกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพส่วนใหญ่นั้นเป็นงานวิจัยที่กันเป็นทีมซึ่งถือเป็นความโดดเด่นอย่างมากในกลุ่มงานสาขาวิชานี้ ข้อมูลสะท้อนว่ากว่าร้อยละ 95.3 ของงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในฐานข้อมูลสากลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นการร่วมงานกันในหลากหลายรูปแบบ โดยเป็นการวิจัยร่วมกันในระดับนานาชาติร้อยละ 32.9 เป็นการวิจัยร่วมกันระหว่างสถาบันภายในประเทศร้อยละ 31.6 และสุดท้ายเป็นการวิจัยร่วมกันภายในสถาบันเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.9 ทั้งนี้มีเพียงร้อยละ 4.7 เท่านั้นของงานวิจัยในกลุ่มสาขาวิชานี้ที่เป็นงานวิจัยที่มีนักวิจัยทำงานเพียงคนเดียว

          และเมื่อไปพิจารณาส่วนของงานวิจัยที่มีการทำงานร่วมกันในหลากหลายรูปแบบพบว่าสัดส่วนงานวิจัยที่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นนอกประเทศนั้นมีสัดส่วนการอ้างอิงสูงถึงร้อยละ 55.76 ของการอ้างอิงทั้งหมดซึ่งถือว่าสูงมาก นี่สะท้อนให้เห็นศักยภาพของงานวิจัยที่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้าไปมีบทบาทในการผลักดัน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในส่วนสถาบันที่คณาจารย์และนักวิจัยของกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพได้เข้าไปทำงานด้วยมากที่สุดและผลงานได้รับการอ้างอิงมากที่สุดนั้นพบว่าส่วนใหญ่คือการทำงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยนาคาซากิ