Loading...

YPIN Factsheet no.7 SciVal เครื่องมือใหม่ในการบริหารจัดการการตีพิมพ์ผลงานในฐานข้อมูลสากล

“ธรรมศาสตร์เปิดการเข้าถึงโปรแกรมประสิทธิภาพสูงในการประมวลข้อมูลด้านการตีพิมพ์ในฐานข้อมูลสากล”

 

 

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างมากในการผลักดันให้คณาจารย์และบุคลากรนักวิจัยผลิตผลงานวิจัยและเผยแพร่ข้อมูลการศึกษาเหล่านั้นในฐานข้อมูลระดับสากล ส่งผลให้คณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ ปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้น เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการทำงานวิจัยที่มีคุณภาพและสามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการส่งเสริมยุทธศาสตร์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีการนำเครื่องมือในการพัฒนาและส่งเสริมกลยุทธ์ทางด้านการตีพิมพ์ในฐานข้อมูลระดับสากลอย่าง SciVal เข้ามาใช้ เพื่อให้แต่ละคณะและสถาบัน สามารถทราบผลงานและผลผลิตทางด้านงานวิจัยของบุคลากรด้านการวิจัยและคณาจารย์เกี่ยวกับการตีพิมพ์ผลงานในฐานข้อมูลสากลได้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นกรอบในการตัดสินใจในการมอบหมายงาน ตลอดจนพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มผลิตภาพในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในระดับคณะ นอกจาก SciVal จะช่วยเพิ่มโอกาสในการศึกษาและวางแผนกลยุทธ์แล้ว เครื่องมือนี้ยังช่วยเข้าถึงข้อมูลของมหาวิทยาลัยข้างเคียงอีกด้วย ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพการพัฒนาโดยรวมของทั้งมหาวิทยาลัยเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ว่ามีการเติบโตในเรื่องการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในฐานข้อมูลระดับสากลแบบใดบ้าง

ทำไมต้อง SciVal และ SciVal ทำอะไรได้บ้าง

          หลายท่านคงมีข้อสงสัยว่าทำไมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำเป็นต้องมี SciVal ไว้ใช้ เหตุผลสำคัญสามารถแจกแจงได้หลายประกาศ แต่ที่สำคัญแน่ ๆ ในเชิงอรรถประโยชน์ โปรแกรม SciVal สามารถช่วยให้เกิดการทบทวนและวิเคราะห์สถานการณ์การตีพิมพ์ผลงานวิจัยในฐานข้อมูลสากาลของทั้งมหาวิทยาลัยได้อย่างรอบด้านมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการมองแบบ 360 องศา เพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจวางแผนเชิงกลยุทธ์สำหรับคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย ที่ปัจจุบันหันมาให้ความสนใจในด้านการวิจัยและพัฒนามากยิ่งขึ้น

          ยิ่งไปกว่านั้นโปรแกรมนี้ยังช่วยในเรื่องการประเมินและเทียบเคียงศักยภาพทางด้านการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยทั้งภายในตัวมหาวิทยาลัยเองและกับหน่วยงานภายนอกที่มีการผลิตผลงานในลักษณะใกล้เคียงกัน ช่วยให้เราสามารถทราบจุดอ่อน และจุดอข็งในการพัฒนาทางด้านการวิจัย และทำให้การจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยเกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญโปรแกรมนี้ยังช่วยสร้างและตรวจสอบจุดเด่นและศักยภาพที่น่าสนใจของการวิจัยโดยรวมของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

          อีกความสามารถสำคัญของโปรแกรม SciVal คือการเป็นตัวช่วยสำคัญในการขยายฐานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน องค์การ ตลอดจนสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีความสนใจในการพัฒนาการวิจัยและพัฒนาร่วมกันโดยเฉพาะในประเด็นที่มีศักยภาพสูงร่วมกัน ทั้งยังช่วยในการแสวงหานักวิจัยที่มีคุณภาพและศัยกภาพสูง เพื่อใช้ในการประเมินตำแหน่งและการขยายกรอบการจ้างงาน และส่วนสำคัญที่สุดคือมันช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถชูจุดแข็งของตนเองเพื่อขอรับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณจากภาครัฐและภาคเอกชนได้โดยมีข้อมูลตัวเลขสนับสนุนที่มีความชัดเจน

SciVal เห็นอะไรในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บ้าง

          เนื่องจาก SciVal เป็นโปรแกรมประมวลข้อมูลการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในฐานข้อมูลระดับสากล ทำให้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบรอบด้านซึ่งสำหรับในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นจากการประมวลข้อมูลพบว่านับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยและบทความวิชาการในฐานข้อมูลสากลแล้วกว่า 3,424 ชิ้น โดยมีนักวิจัยและคณาจารย์เขียนงานวิจัยทั้งสิ้น 2,279 คน เป็นที่น่าสนใจว่าค่าเฉลี่ยการอ้างอิงของบทความทั้งหมดที่มีการตีพิมพ์ของทั้งมหาวิทยาลัยตก 4.6 การอ้างอิงต่อผลงานวิจัยหนึ่งชิ้น โดยกลุ่มผลงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์สูงสุดคิดเป็นร้อยละ 18.8 คือกลุ่มงานวิจัยด้านการแพทย์ ในขณะที่อันดับรองลงมาคิดเป็นร้อยละ 11.5 คือกลุ่มงานวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์

          เมื่อมาดูการวิเคราะห์ตามกลุ่มสาขาวิชาตามการเติบโตและคุณภาพของการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในฐานข้อมูลสากลพบว่ากลุม่งานวิจัยด้านชีวเคมีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ค่อนข้างมีความโดดเด่นเพราะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งยังสร้างผลกระทบในเชิงวิชาการอย่างสูงด้วย และเมื่อพิจารณารายคณะในด้านการตีพิมพ์ผลงานวิชาการและงานวิจัยในฐานข้อมูลสากลพบว่าสถาบันเทคโนโลยีสิรินธรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการตีพิมพ์งานวิจัยที่ค่อนข้างโดดเด่นตามมาด้วยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          นี่คือศักยภาพเบื้องต้นของโปรแกรม SciVal ที่ถูกนำมาใช้เพื่อประมวลภาพรวมงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานข้อมูลสากลเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนและกลยุทธ์เพื่อพัฒนาและต่อยอดในการส่งเสริมการตีพิมพ์ดังที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ “ปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรม”