Loading...

9 ประเด็นยุทธศาสตร์ วิจัยธรรมศาสตร์สู่การพัฒนาสังคมไทยและสังคมโลก

“รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ เผยกลยุทธ 9 ด้านผลักดันงานวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่เป้าหมายมหาวิทยาลัยระดับสากล”

 

 

สารจากรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัยเพื่อก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย และตอบรับปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรม กองบริหารการวิจัยกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาต่อสังคมไทยและสังคมโลกผ่านกลยุทธงานวิจัย 9 ด้านดังต่อไปนี้

          1. ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยจัดสรรทุนวิจัยในประเภทต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด มีแผนการดำเนินโครงการ Thammasat Fellowships เพื่อดึงอาจารย์นักวิจัยระดับนานาชาติมาร่วมทำวิจัยกับนักวิจัยของธรรมศาสตร์

          2. ส่งเสริมและสนับสนุนการร่วมทุนกับหน่วยงานภายนอก โดยกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับโครงการร่วมทุนวิจัยกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อกระตุ้นให้นักวิจัยไปขอทุนกับหน่วยงานภายนอก และทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ภาพอุตสาหกรรมมากขึ้น

          3. ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและจุดเด่นของมหาวิทยาลัย โดยเลือกประเด็นงานวิจัยให้ชัดเจนและจัดสรรทุนวิจัยที่เป็นการบูรณาการระหว่างสายวิทยาศาสตร์และสายสังคมศาสตร์ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและจุดเด่นของมหาวิทยาลัย

          4. ส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัยไปสู่ระดับนานาชาติ โดยมีระเบียบเพื่อให้ทุนสนับสนุนการแปลและ edit บทความเพื่อส่งไปตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ปรับระเบียบที่เน้นผลการดำเนินการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยที่ต้องมีการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ และดำเนินการยกระดับวารสารของธรรมศาสตร์เพื่อเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus

          5. ทบทวน/ปรับปรุง หลักเกณฑ์และแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการทำงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ โดยออกระเบียบทุนวิจัย fast track ที่เน้าการตีพิมพ์ผลงานในระดับนานาชาติและลดขั้นตอนในการประเมินลง

          6. สร้างเครือข่ายงานวิจัยทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ผ่านทาง Centre of Excellence และ เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย

          7. มุ่งเน้นการดำเนินงานด้านมาตรฐานการวิจัย จริยธรรมการวิจัยในคน ในสัตว์ มาตรฐานการวิจัยในห้องปฏิบัติการ และความปลอดภัยทางชีวภาพ

          8. พัฒนาระบบการบริหารงานวิจัย โดยสร้างฐานข้อมูลความเชี่ยวชาญนักวิจัย พัฒนาและนำระบบฐานข้อมูลงานวิจัยเพื่อประกอบการบริหารงานวิจัย

          9. พัฒนาคุณภาพนักวิจัยและสร้างบรรยากาศในการทำงานวิจัย โดยจัดเวทีให้นักวิจัยจากต่างคณะได้มาพบกันเพื่อร่วมทำงานวิจัยร่วมกันในเชิงบูรณาการ กระตุ้นนักวิจัยให้ขอรางวัลผลงานวิจัยจากองค์กรภายนอก จัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยที่ได้รับรางวัลกับคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย

          กองบริหารการวิจัย มีปณิธานในการเป็นองค์กรที่มีส่วนสนับสนุนส่งเสริมให้การดำเนินงานด้านบริหารการวิจัยของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการด้านการวิจัยของบุคลากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ภารกิจหลักของกองบริหารการวิจัยคือสนับสนุน ส่งเสริมและเผยแพร่งานวิจัยโดยการจัดสรรทุนวิจัยและรางวัลวิจัยภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังนี้ คือ ทุนวิจัยงบประมาณแผ่นดิน ทุนวิจัยประเภทกำหนดหัวข้อ ทุนวิจัยทั่วไปสำหรับอาจารย์และบุคลากรทางการวิจัย ทุนวิจัยทั่วไปสำหรับบัณฑิตศึกษา ทุนวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ทุนวิจัยสถาบัน ทุนสนับสนุนงานวิจัยสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ ทุนสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ ทุนนำเสนอผลงานในต่างประเทศ ทุนอุดหนุนการทำวิทยานิพนธ์เพื่อนำไปสู่การตีพิมพ์เผยแพร่ ทุนสนับสนุนเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยวิจัย กองทุนวิจัยคณะ ทุนสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานวิจัย ทุนสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ รางวัลเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ ทุนสนับสนุนการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร การสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการ ทุนสนับสนุนการแปลบทความวิจัยและบทความวิชาการ รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น รางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น รางวัลเชิดชูเกียรติวันนักวิจัย และดำเนินการด้านงานวารสารทางวิชาการ วารสารสังคมศาสตร์ 2 ฉบับคือ วารสารธรรมศาสตร์ และ วารสาร Thammasat Review วารสารสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2 ฉบับคือ วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ วารสาร Science & Technology Asia ติดต่อและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Web site กองบริหารการวิจัย http://research.tu.ac.th/

ธรรมศาสตร์วิจัย ก้าวไกลสู่สากล

ศาตราจารย์ ดร.ทพญ. ศิริวรรณ สืบนุการณ์