Loading...

ปักธง 5 ยุทธศาสตร์ Transformation มุ่งสู่การเป็น ‘มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต’

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศเดินหน้าแผน Transformation ปฏิรูประบบการเรียนรู้ สร้างบัณฑิตให้มีคุณลักษณะ GREATS เพิ่มสมรรถนะก้าวสู่ผู้นำโลกยุค 4.0

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2561

          เปิดนโยบาย “การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชู 5 ยุทธศาสตร์บริหารมหาวิทยาลัย พร้อมก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลง  Thammasat Transformation : Defining the Future มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต” โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอน และการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการดูแลสุขภาวะนักศึกษาทั้งทางกายและจิตใจ การคำปรึกษาและดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ ผ่าน Application mindmood และการส่งเสริมนโยบายที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศในด้าน Research Innovation Entrepreneurship เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาประเทศรอบด้าน นำโดย รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ศาสตราจารย์ พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา และศาสตราจารย์ ดร.ทันตแพทย์หญิงศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม

          การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่ามกลางโจทย์ที่ท้าทายใหม่ ๆ รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว เพื่อรองรับกับความท้าทายที่เกิดขึ้น และมุ่งที่จะผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 โดยมหาวิทยาลัยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จ ได้แก่ 1. การสร้างบัณฑิตที่มีคุณลักษณะ GREATS (Transforming you into GREATS) ที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก มีองค์ความรู้แบบบูรณาการในศาสตร์ต่าง ๆ มีทักษะการเป็นผู้นำ ควบคู่ไปกับการมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และสามารถสื่อสารได้อย่างน้อย 3 ภาษา  2. สร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม (Innovation research for Impact) สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ตามแนวนโยบาย ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ของรัฐบาล 3. สร้างความเป็นนานาชาติและเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ (Going for great together) ผลักดันให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านวิชาการ ด้านการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ 4. มุ่งเน้นการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน (World Class services for The People) ยกระดับคุณภาพการให้บริการวิชาการและการบริการด้านสุขภาพที่ได้มาตรฐานสากล โดยการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางคลินิก (Clinical excellence Center) โดยความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างคณะในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้บริการแก่ชุมชนและประชาชน และ 5. มุ่งสู่ความมั่นคงและยั่งยืนด้วยการบริหารจัดการที่ทันสมัย (Best Sustainable and Smart University) มุ่งเน้นพัฒนาระบบการทำงาน ศักยภาพของบุคลากร และการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานและพัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพสูง

          สำหรับในปี 2562 นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีนโยบายในการเป็น Thammasat Transformation : Defining the Future มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต” โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอน และการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เปิดการเรียนการสอนในรูปแบบตลาดวิชา Gen Next Academy เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปไม่จำกัดวุฒิ ไม่จำกัดอายุ เรียนวิชาต่าง ๆ ในธรรมศาสตร์ได้ไม่จำกัดจำนวนวิชาตามความสนใจได้ การเรียนวิชาโทข้ามศาสตร์ (Transdisciplinary) เพื่อสร้างสมรรถนะใหม่ การเรียนการสอนแบบออนไลน์ และความร่วมมือกับองค์กรภายนอก เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาหลักสูตรและเรียนรู้ในสถานประกอบการ (Work Integrated Learning) พร้อมส่งเสริมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นต้น

          “ธรรมศาสตร์กำลังปรับเปลี่ยนสู่มิติใหม่เพื่อตอบโจทย์บริบทสังคมไทยและระดับโลก เราพัฒนาโครงสร้างหลักสูตรที่ส่งเสริมคนรุ่นใหม่และเกิดการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต นำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการสอน ผลิตบัณฑิตให้เป็น GREATS คือ มีทักษะของผู้ประกอบการ เชี่ยวชาญถึง 3 ภาษา พร้อมปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ยกระดับสู่มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต” รองศาสตราจารย์เกศินี กล่าว

          ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า นโยบายเปิดตลาดวิชา Gen Next Academy เปิดโอกาสให้คนภายนอกโดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษาและอายุ เรียนได้ใน 3 รูปแบบ คือ 1. การเรียนแบบ Face-to-face ในห้องเรียนร่วมกับนักศึกษาธรรมศาสตร์ 2. การอบรมระยะสั้น 14 สัปดาห์ วันเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงเย็น 3. การเรียนในรูปแบบ MOOC หรือ Massive Open Online Course นำเทคโนโลยีและวิธีการเรียนการสอนสมัยใหม่มาผสมผสาน ทั้งนี้ ผู้เรียนยังสามารถสะสมหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อโอนเข้าหลักสูตรปกติได้ เมื่อเรียนครบ 25% ของหลักสูตรนั้น และมีคุณสมบัติครบตามข้อกำหนดของหลักสูตร ซึ่งผู้เรียนสามารถจบการศึกษาได้ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับประกาศนียบัตร ระดับอนุปริญญา และปริญญาบัตร

          นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาห้องเรียนเพื่อรองรับการเรียนการสอนแบบ Active Learning สร้างพื้นที่ทำงานร่วมกันแบบ Co-working Space การสร้างมาตรฐานวิชาชีพอาจารย์ ปรับรูปแบบการสอนให้เป็น E-Learning เพิ่มประสบการณ์เรียนรู้แนวใหม่ รวมทั้งการดูแลนักศึกษา เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีพื้นที่ในการแสดงออกผ่านกิจกรรมต่าง ๆ

          ศาสตราจารย์ พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา กล่าวถึงนโยบายสร้างสุขภาวะทั้งทางกายและจิตใจว่า มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญมากในการดูแลนักศึกษา โดยมีระบบให้คำปรึกษาและดูแลผ่านเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ หากเกิดความเครียดหรือปัญหาต่าง ๆ ผ่าน Application mindmood นักศึกษาสามารถทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา ประเมินสุขภาพจิตใจและวิธีการดูแลตนเองเมื่อเกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล และเป็นช่องทางติดต่อช่วยเหลือนักศึกษาได้อย่างเหมาะสม  ทั้งนี้ เพื่อสร้าง Wellness University และ Healthy Campus โดยเน้นให้นักศึกษามีส่วนร่วมทำ Hackathon ซึ่งมีการนำเสนอผลงานเด่น ๆ ของนักศึกษา นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีนโยบายที่เปิดกว้างในการรับนักศึกษา โดยให้เป็น University for all เปิดรับนักศึกษาพิการทุกคนในโครงการนักศึกษาพิการ และเป็นต้นแบบของ Universal Design ที่มีกายภาพเหมาะสำหรับผู้พิการ และธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ออกแบบพื้นที่ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด และมีแอปพลิเคชันสำหรับผู้พิการอีกด้วย

          ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ทันตแพทย์หญิงศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงนโยบาย “การส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาประเทศ” ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งเน้นความเป็นเลิศในด้าน Research Innovation Entrepreneurship โดยที่ผ่านมามีนวัตกรรมจำนวนมากได้รับรางวัลทั้งในประเทศและสร้างชื่อเสียงระดับโลก จากผลงานที่ได้รับรางวัลสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของศูนย์วิจัย (Research Center) ทั้ง 15 สาขาที่เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงการทำงาน พร้อมสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ กับภาคเอกชนชั้นนำ และนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นผลงานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาสังคม คิดค้นผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางการเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าได้ยิ่งขึ้น นวัตกรรมในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ที่ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องมีการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยเหลือด้านสุขภาพและอำนวยความสะดวกให้ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจะกำหนดให้มี Thammasat Fellowship และ Chaired Professors ที่เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการเสริมความแข็งแกร่งในการแข่งขันด้านผลงานวิชาการ ซึ่งโครงการทั้งสองนี้จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้านงบประมาณในการดำเนินการอีกด้วย

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนี้ไม่ได้เป็นเพียงสถาบันการศึกษาชั้นนำที่ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต สร้างงานวิจัย และเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมงานวิชาการที่โดดเด่นเพียงเท่านั้น หากแต่ยังมุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้นำรุ่นใหม่เพื่อสังคมไทยและนานาชาติ (Grooming Next-Generation Leaders for Thailand and International Communities)” ก้าวหน้า…ทันทุกการเปลี่ยนแปลง ก้าวไกล…มุ่งสู่โลกแห่งอนาคต เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรต้องปรับตัวให้เท่าทันกับความท้าทายของกระแสโลกยุคใหม่ ก้าวต่อไปของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นับจากนี้จะเป็นก้าวย่างสู่ความยิ่งใหญ่ไปสู่มหาวิทยาลัยแห่งอนาคตอย่างเต็มรูปแบบ