Loading...

"ธรรมศาสตร์" ร่วมกับ "เอสซีจี" ต่อยอดงานวิจัยบรรจุภัณฑ์ทางการเกษตรสู่เชิงพาณิชย์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง พัฒนางานวิจัยบรรจุภัณฑ์ทางการเกษตรสู่เชิงพาณิชย์ เพิ่มศักยภาพการกระจายสินค้าเกษตรกรรมให้มีมูลค่าสูง

วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2561

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด สํานักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างความร่วมมือกับ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จํากัด (มหาชน) ในด้านการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักวิจัยของทั้งสองฝ่าย เพื่อการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ตามโครงการ และแผนงานความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการรักษาคุณภาพความสดและยืดอายุของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

           รองศาสตราจารย์ ดร.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ผู้อํานวยการสํานักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จํากัด (มหาชน) มีความมุ่งมั่นที่จะมาพัฒนาบรรจุภัณฑ์ทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะด้าน “Active Packaging” ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสํานักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ก็มีศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่พร้อมจะทำ Active Packaging ในส่วนของเราเป็นส่วนของการทำวิจัย แต่การวิจัยนี้จะไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง ต้องมีความร่วมมือกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ และเมื่อได้ทำการวิจัยร่วมกันจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติ มีนวัตกรรมนี้ออกไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางด้านการเกษตร ซึ่งในเรื่องดังกล่าวประเทศไทยยังขาดอยู่มาก ถึงแม้จะมีของดี แต่ไม่สามารถไปแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ ในขณะที่สินค้าบางอย่างจากต่างประเทศมาพร้อมกับนวัตกรรม แล้วเข้ามาตีตลาดกับทั่วโลกได้ เพราะฉะนั้น “เราต้องพานวัตกรรมเหล่านี้ ไปสู่ภาคการเกษตร แล้วพาสินค้าเกษตรไปสู่สากล” นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาบุคลากร นักวิจัย หรือนักศึกษาปริญญาตรี โท เอก ร่วมกับนักวิจัยจาก บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จํากัด (มหาชน) ในการพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน

          ด้าน นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ตําแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จํากัด (มหาชน) เชื่อว่า ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะทำให้สามารถนำเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นมานำไปทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ได้จริงๆ ทำให้ประเทศเราที่เป็นประเทศเกษตรกรรมมีศักยภาพในการกระจายสินค้าเกษตรกรรมให้มีมูลค่าสูงขึ้น นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การพัฒนาคน ระหว่างบริษัทและมหาวิทยาลัย ก็จะเป็นส่วนสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง

          การวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้ จะช่วยต่อยอดความรู้ และการทํางานร่วมกันระหว่างบริษัทและมหาวิทยาลัย อันนําไปสู่นวัตกรรมสินค้า นวัตกรรมการผลิต รวมไปถึงเชื่อมโยงเครือข่าย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ เพื่อผลักดันให้เกิดการนําผลการวิจัยไปใช้งานได้จริง