Loading...

นักวิจัยธรรมศาสตร์ คว้า 21 รางวัลระดับโลก นวัตกรรมสุดล้ำด้านการแพทย์-ปัญญาประดิษฐ์

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก้าวล้ำไปอีกขั้น คว้า 21 รางวัลจากเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 47 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ.2562

  

          ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก้าวล้ำไปอีกขั้น คว้า 21 รางวัล จากเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 47 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้ต่อเนื่อง มั่นใจศักยภาพทางวิชาการได้รับการยอมรับจากทั่วโลก มุ่งหวังนำองค์ความรู้ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำผลงานวิจัยเข้าร่วมเวทีการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 47 (The 47th International Exhibition of Inventions Geneva) ณ ศูนย์ประชุม Palexpo กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 10 - 14 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยในปีนี้ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างผลงานโดดเด่นและได้รับรางวัลระดับโลกมากถึง 21 รางวัล ประกอบด้วยเหรียญทอง (Gold Medal) จำนวน 1 รางวัล เหรียญเงิน (Silver Medal) จำนวน 4 รางวัล เหรียญทองแดง (Bronze Medal) จำนวน 10 รางวัล และรางวัลพิเศษ (Special Prize) อีกจำนวน 6 รางวัล ครอบคลุมผลงานทางเทคโนโลยี ทั้งด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ การแพทย์ ระบบไฟฟ้า พยากรณ์อากาศ และปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น

          รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า รางวัลด้านนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้รับจากเวทีการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 47 (The 47th International Exhibition of Inventions Geneva) จำนวน 21 รางวัล แสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทีมคณาจารย์และนักวิจัย โดยการนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาพัฒนาเป็นแนวคิดและผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์โลกแห่งอนาคต ควบคู่ไปกับนโยบายที่ส่งเสริมสนับสนุนและขับเคลื่อนในทุกมิติ

          “ความสำเร็จที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับ 21 รางวัล นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับผลงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมแข่งขันจาก 40 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีนานาชาติ ผลักดันให้นักวิจัยของเราได้รับการยอมรับ ทั้งด้านนวัตกรรม วิชาการ และความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นเลิศ และเรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอีกในปีหน้า”

          รศ.เกศินี ย้ำว่า วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เดินหน้าส่งเสริมงานวิจัยสาขาต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง มีการปรับโครงสร้างการดำเนินงานให้คล่องตัว สร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการคิดค้นและพัฒนาผลงานใหม่ ๆ ร่วมงานกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนชั้นนำ นำไปสู่ความร่วมมือทั้งด้านงบประมาณและการนำนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่หลากหลายไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ สามารถต่อยอดยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อาทิ ด้านสุขภาพ การแพทย์ อุตสาหกรรม และคมนาคม ฯลฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรม

          รางวัลที่ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับจากการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 47 (The 47th International Exhibition of Inventions Geneva) จำนวน 21 รางวัล ประกอบด้วย

เหรียญทอง (Gold Medal) จำนวน 1 รางวัล

          1. ผลงาน อุปกรณ์อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งที่สามารถตรวจจับแรงกระแทกจากการชนและสามารถขอความช่วยเหลือได้โดยอัตโนมัติ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศาล แก้วประภา และคณะ

เหรียญเงิน (Silver Medal) จำนวน 4 รางวัล

          1. ผลงาน แบบจำลองเชิงตัวเลข 3 มิติ สำหรับการทำนายกระบวนการรักษามะเร็งตับในผู้ป่วยโดยใช้ไมโครเวฟโดย ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช และคณะ

          2. ผลงาน โปรแกรมช่วยแพทย์ในการตรวจหาการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินโรคของผู้ป่วยต้อหิน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ และคณะ

          3. ผลงาน โปรแกรมจำแนกประเภทรูปร่างและสีของเครื่องประดับด้วยโครงข่ายประสาทเทียม โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศาล แก้วประภา และคณะ

          4. ผลงาน การวิเคราะห์รูปแบบการเคลื่อนที่ของผึ้งภายในรัง โดยใช้ระบบประมวลผลภาพ (Bee walking pattern in beehive analysis using image processing) โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง และคณะ

เหรียญทองแดง (Bronze Medal) จำนวน 10 รางวัล     

          1. ผลงาน อุปกรณ์ตรวจสอบสุขภาพและตำแหน่งยานพาหนะด้วยเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ และนายณัฐพล วัฒนวิสุทธิ์

          2. ผลงาน ปัญญาประดิษฐ์และอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งเพื่อการเพาะปลูกขนาดย่อม (Plook) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ และคณะ 

          3. ผลงาน การใช้แอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหยอดตาแก่ผู้ป่วยโรคต้อหิน โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมัญชิมา มะกรวัฒนะ และคณะ 

          4. ผลงาน ฟิล์มทูโก โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ และคณะ

          5. ผลงาน สปีดโกรท โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ และคณะ

          6. ผลงาน แอปพลิเคชันตรวจตาอัจฉริยะ (สามต้อ) โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณวพล กาญจนารัณย์ 

          7. ผลงาน โปรแกรมคัดกรองต้อหิน GlaucoApp บนมือถือ โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ 

          8. ผลงาน อุปกรณ์ส่งเสริมการให้นมและวัดปริมาณน้ำนมแม่ โดย อาจารย์สุภาวดี ทับกล่ำ 

          9. ผลงาน การตรวจจับการใช้งบประมาณสาธารณะ โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร และคณะ

          10. ผลงาน เครื่องตรวจจับความผิดปรกติของมอเตอร์อย่างชาญฉลาดผ่านการสั่นของสัญญาณไฟฟ้าเพื่อการเฝ้าสังเกตภาวะ โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง และคณะ

รางวัลพิเศษ (Special Prize) จำนวน 6 รางวัล

          1. Special Prize on Stage from Inventions Hong Kong & Invention Geneva ผลงาน แบบจำลองเชิงตัวเลข 3 มิติ สำหรับการทำนายกระบวนการรักษามะเร็งตับในผู้ป่วยโดยใช้ไมโครเวฟ โดย ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช และคณะ

          2. Special Prize from Russia ผลงาน อุปกรณ์ส่งเสริมการให้นมและวัดปริมาณน้ำนมแม่ โดย อาจารย์สุภาวดี ทับกล่ำ

          3. Special Prize from China ผลงาน เครื่องนับจำนวนไข่ไก่บนสายพานอัตโนมัติด้วยกล้องวงจรปิดและเทคนิคการประมวลผลภาพ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศาล แก้วประภา และคณะ

          4. Special Prize from Korea ผลงาน สารเคลือบจากกากรำข้าว (เมโลดี้ เฟรช) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.จิรดา สิงขรรัตน์ และคณะ

          5. Special Prize from Saudi Arabia ผลงาน แบบจำลองการพยากรณ์ฝนด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อุรุยา วีสกุล และคณะ

          6. เหรียญทองพิเศษ (Special Prize จากโมร็อคโค) ผลงาน การค้นหาแบบลายผ้าด้วยเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึกสมองกลโดยการจับกลุ่มตามความรู้สึกของผู้ใช้งาน (Textile Pattern Cluster & Searching for Kansei Engineering) โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง และคณะ