Loading...

โครงการ “จัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ Thammasat EEC”

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเชิญชวนเข้าร่วมรับฟังความเห็นในโครงการ “จัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ Thammasat EEC”

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2561

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งหวังที่จะใช้ขีดความสามารถในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ด้วยการขอรับการส่งเสริมเป็นเขตส่งเสริมกิจการพิเศษ Thammasat EEC ในพื้นที่ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา โดยใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยจำนวน 566 ไร่ ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์และสุขภาพแบบครบวงจร นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงลดผลกระทบต่อประชาชนด้านชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อันเนื่องมาจากการพัฒนาต่าง ๆ ในเชิงอุตสาหกรรม ด้วยการผนวกความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสังคมศาสตร์ รวมถึงด้านการแพทย์และการจัดการสุขภาพ อาศัยความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัยต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่

โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

          1.ยกระดับขีดความสามารถด้านการแพทย์และสุขภาพแบบครบวงจร นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และดิจิทัล ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมพร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจากกรอบความร่วมมือที่มหาวิทยาลัยมีกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศผ่านการร่วมวิจัย การเรียนการสอน และการปฏิบัติงานจริง

          2.เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรทั้งที่ปฏิบัติงานอยู่ทั้งภายในและนอกพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแพทย์และสุขภาพ อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ยานยนต์แห่งอนาคต โทรคมนาคมและดิจิทัลเทคโนโลยี การพัฒนาซอฟต์แวร์และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) สร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ตามนโยบายภาครัฐ และยังรวมถึงการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ เช่น การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ การสร้างผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Entrepreneurship) เป็นต้น

          3.พัฒนาระบบสุขภาพของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยเปิดโรงพยาบาลขนาดใหญ่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ ศูนย์วิจัยด้านยาและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุทยานการแพทย์และสุขภาพแบบยั่งยืน (Valley of Wellness) รวมถึงการให้การสนับสนุนด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

          4.ดึงดูดความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมยกระดับความร่วมมือสู่ความเป็นสากล โดยเน้นด้านการแพทย์และสุขภาพแบบครบวงจร นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคตและดิจิทัล

          ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้จัดทำโครงการเพื่อขอรับการจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจกรรมพิเศษ EEC เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานต่าง ๆ ตามนโยบายการพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา โดยมีการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

          ระยะที่ 1 ดำเนินการพัฒนาศักยภาพบุคลากรโดยเน้นการฝึกอบรม วิจัยและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ การให้คำปรึกษา จัดหลักสูตรฝึกอบรม (Training) เพื่อช่วยเสริมองค์ความรู้ให้กับบุคลากรในธุรกิจ อุตสาหกรรมและองค์กรต่าง ๆ ให้มีความสามารถในการทำงานเพิ่มขึ้น ลดช่องว่างขององค์ความรู้ระหว่างบุคลากรและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปไม่มีที่สิ้นสุด อันนำมาซึ่งการเพิ่มพูนประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีศักยภาพด้านอาคารสถานที่พร้อมไว้เพื่อรองรับแล้ว

          ระยะที่ 2 การสร้างความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศและองค์กรทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง วางแผนความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างชาติชั้นนำซึ่งอาจจะมาจากประเทศที่มีการลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นส่วนสำคัญทำให้ผู้ที่อาจเกี่ยวพันกับกิจกรรมของ EEC ยินดีที่จะมาร่วมเป็นเครือข่าย อีกทั้งเป็นแรงกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยไทย ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคุณภาพการเรียนการสอน โดยเฉพาะเป็นต้นแบบของงานวิจัยในระดับอุดมศึกษา การมีเครือข่ายเชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัยเหล่านี้จึงเป็นผลดีต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          ระยะที่ 3 การจัดตั้งศูนย์การแพทย์ที่ทันสมัยขนาด 300 เตียง ซึ่งจะจัดตั้งโรงพยาบาลเฉพาะทาง เช่น ศูนย์จักษุ ศูนย์หัวใจ ศูนย์ทางเดินอาหาร ศูนย์กระดูดและข้อ ศูนย์ Wellness และกายภาพบำบัด ศูนย์ผิวหนัง เป็นต้น รวมทั้งจะขยายคณะแพทยศาสตร์ในปัจจุบันขึ้นเป็นวิทยาลัยการแพทย์นานาชาติ เพื่อทำการวิจัยด้านการแพทย์ชั้นสูง โดยได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้ อีอีซี สนับสนุนงบประมาณในระยะแรก 2.6 พันล้านบาท ต่อจากนั้นขยายโรงพยาบาลอีก 300 เตียง เพื่อรองรับการขยายตัวของ อีอีซี ในอนาคต คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 2.4 พันล้านบาท ซึ่งมีแผนที่จะออกไปดึงมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศมาร่วมลงทุน เพื่อให้โรงพยาบาลนี้เป็นศูนย์วิจัยทางการแพทย์ที่ทันสมัย

          โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล็งเห็นว่า เขตส่งเสริมกิจการพิเศษ Thammasat EEC จะเป็นส่วนสำคัญของการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการพัฒนาบุคลากร เพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพแบบครบวงจรของไทย ดึงดูดความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ สามารถร่วมกันพัฒนาระบบสุขภาพของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกแบบยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนายานยนต์แห่งอนาคต และอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลพัฒนาบุคลากรทั้งที่ปฏิบัติงานอยู่ทั้งภายในและนอกพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ สร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ตามนโยบายภาครัฐ

          ดังนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงขอเชิญชวนประชาคมธรรมศาสตร์ ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังความเห็นในการดำเนินการโครงการ “จัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ Thammasat EEC” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุม ถาวร-อุษา พรประภา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา โดยมีรถรับ-ส่ง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันดังกล่าว ทั้งนี้สามารถแจ้งความจำนงในการเข้าร่วมรับฟังความเห็นและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายอันเจโล มิ๊กเครี่ โทร. 08-2251-6445